กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีตำนานกล่าวไว้ว่ามีพี่น้องชาวเมืองเหนือ ๕ คน บวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมาก ได้พร้อมใจกันตั้งสัจจะอธิษฐานว่า
“เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์ โลกให้พ้นทุกข์ แม้ตายไปแล้ว ก็จะสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้น ทุ ก ข์ต่อไป จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน”
ครั้นพระอริยบุคคลทั้งห้าองค์นี้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูปทั้งห้าองค์ มีความปรารถนาจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้คนทางเมืองใต้ จึงพากันแสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้พระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาทางใต้ตามแม่น้ำสายหลักของภาคกลางทั้ง ๕ สาย ชาวบ้านชาวเมืองตามริมฝั่งแม่น้ำเห็นพระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาก็พากัน เลื่อมใสจึงได้นำพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นฝั่งและอาราธนาให้ขึ้นสถิตอยู่ตามวัดต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำ มีรายนามดังนี้
พระหลวงพ่อโสธรและพระพุทธรูปอีกสององค์ได้ลอยมายังแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “สามเสน” และลอยขึ้นมาให้ชาวบ้านเห็น แต่เมื่อพยายามชักลากพระทั้ง 3 องค์ขึ้นมาบนฝั่งเท่าไรก็ไม่สามารถทำได้ ว่ากันว่าต้องใช้ผู้คนเป็นแสนๆ ก็ทำไม่สำเร็จ บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “สามแสน” ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น”สามเสน”
จากนั้นพระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็จมน้ำลง และลอยต่อไปยังคนละแห่ง โดยพระพุทธรูปองค์หนึ่งได้ลอยตามแม่น้ำบางปะกงมาขึ้นที่หน้าวัดโสธรและลอยให้ชาวบ้านเห็น ชาวบ้านจึงช่วยกันฉุดแต่ไม่สามารถนำขึ้นมาได้ จนต้องตั้งพิธีบวงสรวงใช้สายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์ของพระพุทธรูปจนสามารถอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานในวิหารได้สำเร็จ
หลวงพ่อวัดไร่ขิงนี้มีอยู่หลายแบบด้วยกัน บ้างก็ว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิงลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และชาวบ้านได้นำขึ้นประดิษฐานที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และเรียกท่านว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” บ้างก็เล่าว่า ในสมัยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมราชานุวัตรในพ.ศ.2394 และครองวัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านไปที่วัดไร่ขิง และกล่าวกับเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงว่า โบสถ์ใหญ่โต แต่พระประธานเล็กไปหน่อย
เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงจึงกราบเรียนท่านว่า วัดไร่ขิงเป็นวัดจนๆ ไม่สามารถสร้างพระพุทธรูปใหญ่โตได้ เมื่อทราบดังนั้นท่านจึงบอกว่าที่วัดของท่านมีพระอยู่องค์หนึ่งให้เจ้าอาวาสไปอัญเชิญมาได้ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงจึงเดินทางไปยังวัดศาลาปูน และอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวลงแพที่ใช้ไม้ไผ่มัดล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำนครชัยศรี(ท่าจีน) จนกระทั่งถึงวัดไร่ขิง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถตั้งแต่นั้นมา และในวันที่ชาวบ้านทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพไม้ไผ่ ตรงกับวันสงกรานต์พอดี ขณะที่กำลังอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพนั้น แสงแดดที่ส่องแรงก็กลายเป็นเมฆดำ มีฟ้าร้องฝนตกโปรยปรายลงมา ทำให้คนที่อยู่ ณ ที่นั้นเกิดความชื่นใจ เชื่อว่าหลวงพ่อจะช่วยทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป
ตำนานเล่าว่า หลวงพ่อโตล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วลอยเข้ามา ในลำคลองสำโรง ผู้พบเห็นต่างโจษจันกันไปทั่วถึงปาฏิหาริย์ในครั้งนี้ จึงพากันอาราธนาหลวงพ่อขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่ฉุดดึงเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ท่านไม่ยอมขึ้น ในที่นั้น มีผู้มีปัญญาดีคนหนึ่งให้ความเห็นว่า คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน แม้จะใช้จำนวนผู้คนสักเท่าไรก็อาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งไม่สำเร็จเป็นแน่ ควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายฉุดท่าน ให้ลอยตามลำน้ำสำโรงและอธิษฐานว่า “หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใดก็ขอจงได้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด”
เมื่อประชาชนทั้งหลายได้เห็นพ้องดีกันดังนั้นแล้ว ก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่านแล้วใช้เรือพาย ช่วยกันจ้ำพายจูงแพลอยเรื่อยมาตามลำคลอง ครั้นแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม หรือวัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์ท่านเกิดหยุดนิ่ง พยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง แพนั้นก็หาได้ขยับเขยื้อนไม่
ประชาชนที่มากับเรือและชาวบางพลีจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าหลวงพ่อจะโปรดคุ้มครองชาวบางพลีให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้วก็ ขออาราธนาอัญเชิญองค์ท่านให้ขึ้นจากน้ำได้โดยง่ายเถิด” และเป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก เพียงใช้คนไม่มากนักสามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย และได้อาราธนาท่านขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา
ตำนานเล่าว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าว จ.เพชรบุรี พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลากพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย และพระ พุทธรูปยืน ทุกคนต่างอัศจรรย์ใจเป็นที่สุดที่พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง แต่ลอยอยู่ในน้ำได้ จึงพากันกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใส แล้วอาราธนาขึ้นบนเรือคนละลำ พอเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลอง ตอนหน้าวัดศรีจำปา เกิดฝนตกหนัก ลมพายุพัดแรง ทำให้เรือลำที่พระ พุทธรูปยืนประดิษฐานเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ
ชาวบ้านแหลมพากันตกใจเป็นอย่างยิ่ง ช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งองค์ที่เหลืออยู่ไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เวลาต่อมา ชาวบ้านศรีจำปาค้นพบพระพุทธรูปที่จมน้ำอยู่นั้น และอาราธนาประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา ฝ่ายชาวประมงบ้านแหลม ยินยอมยกพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรให้ชาวบ้านศรีจำปา โดยมีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เป็น “วัดบ้านแหลม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมพบพระพุทธรูปตั้งแต่นั้นมาวัดศรีจำปาจึงได้นามว่า “วัดบ้านแหลม” มาจนทุกวันนี้ และขนานนามพระพุทธรูปยืนว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม”
ไม่มีหลักฐานระบุสร้างปีใด ใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงตำนานเอ่ยถึง เมื่อสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ก่อนเสียกรุงต่อพม่า ชาวบ้านแหลมอพยพหนีพม่าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากคลองแม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ครั้งหนึ่งได้ออกเรือหาปลา ได้ลากอวนไปติดพระพุทธรูป 2 องค์ หนึ่งในนั้นเป็นพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ โดยได้มอบให้ชาวบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เนื่องจากเป็นพี่น้องในย่านน้ำเดียวกัน ชาวบางตะบูนจึงได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา และเรียกชื่อพระพุทธรูปว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา”
ในขณะที่บางตำนานก็กล่าวไว้ว่า การที่พระพุทธรูปทั้ง ๕ ลอยน้ำมานี้ก็เพราะเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ข้าศึกได้ เ ผ า ไฟเพื่อหลอมเอาทองที่หล่อจากองค์พระพุทธรูป ชาวบ้านเองก็ต้องการจะรักษาพระพุทธรูปไว้ จึงเอาปูนบ้าง รักดำบ้าง ไปพอกไว้ที่องค์พระ เพื่อให้ดูไม่สวยงามและปกปิดความมีค่าไว้จากข้าศึก แต่เมื่อไม่อาจปกป้องได้ไหวจึงขนย้ายพระพุทธรูปสำคัญลงแพไม้ไผ่ล่องมาตามแม่น้ำเพื่อไม่ให้ข้าศึกทำลาย
ด้วยน้ำหนักขององค์พระ เมื่อวางพระลงบนแพไม้ไผ่จึงดูเหมือนพระพุทธรูปลอยมาตามน้ำ จนผู้ที่พบเห็น ถือเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่น้ำหนักมากจะสามารถจะลอยน้ำได้ พระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์นี้ ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด ที่มีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างประเทศหลั่งไหลมาเคารพสักการะมิได้ขาดสาย