ตำนานหลังดำแห่งวัดสาลีโข

หากกล่าวถึง วัดสาลีโข มีเจ้าอาวาสองค์แรกคือ หลวงปู่เผือก (พระครูธรรมโกศล) ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนอ้าย (ปีชวด พ.ศ.2299) เป็นชาวกรุงศรีอยุธยา บิดาเป็นชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายในประเทศไทย ส่วนมารดาเป็นคนไทย หลวงปู่เผือกบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดพุทไธสวรรย์ สมัยนั้นความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนไทยมีมาก หลวงปู่เผือกท่านจึงได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนแตกฉานตั้งแต่เป็นสามเณร

สมัยรัชการที่ 1 หลวงปู่เผือกท่านมีชื่อเสียงมากและโด่งดังเข้าไปถึงหูของบรรดาขุนนางเจ้านาย ในรั้ววังต่างมากันมาหาท่านเพื่อขอวัตถุมงคลของขลังหรือขอให้ท่านลงอักขระ เพื่อความเป็นมงคล และหนังเหนียว ว่ากันว่าท่านทำได้ขลังยิ่งนัก จึงมีลูกศิษย์มาขึ้นกับท่านมาก เรียกว่าในช่วงนั้นวัดสาลีโขเจริญรุ่งเรืองสุดขีดเลยทีเดียว

ครั้นพอถึงสมัยรัชการที่ 4 หลวงปู่เผือกได้รับพระราชทานพระราชทินนามว่า พระครูธรรมโกศล ตำแหน่ง สังฆปาโมกข์ฝ่ายอรัญวาสี แขวงนนทบุรี และเป็นเจ้าคณะเมืองนนทบุรี หลวงปู่เผือกได้รับพระราชทานเรือกันยาหลังคาแดง มีฝีพายเต็มอัตราเป็นเรือประจำตำแหน่งสำหรับออกตรวจคณะสงฆ์ในเขตปกครอง หลวงปู่เผือกละสังขารในสมัยรัชการที่ 4 พ.ศ.2405 สิริอายุรวม 106 ปี

กาลเวลาผ่านมาล่วงเลยมานาน วัดสาลีโขภิตารามจ.นนทบุรี ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม พ.ศ. 2399 โดยมีนางบุญมี ละนางบุญมา สองพี่น้อง เป็นผู้สร้างวัด และท่านทั้งสองได้ตั้งความปรารถนาที่จะทำนาจึงอธิษฐาน และสำเร็จตามคำอธิษฐาน จึงได้บริจาคที่เพื่อสร้างวัดนี้ขึ้นและให้ชื่อว่า “วัดสาลีโค” ซึ่งมีความหมายว่า “ข้าวมาก” ต่อมาได้เพิ่มเป็น “วัดสาลีโขภิรตาราม” จนถึงทุกวันนี้

ในอดีตชุมชนย่านวัดสาลีโขขึ้นชื่อว่าเป็นดงนักเลง ถึงกับมีคำพูดกันติดปากว่า “หนังไม่เหนียว ห้ามเที่ยวสาลีโข” วลีเด็ดนี้เป็นที่คุ้นหูคุ้นปากกันดีในหมู่นักเลงยุคเก่าราว 70 ปีก่อนจนกลายเป็นตำนานความขลังที่โด่งดังมาจนทุกวันนี้ โดยผู้ที่ทำให้เกิดตำนานวลีเด็ดนี้ก็คือ “หลวงพ่อจำปา นารโท” แห่งวัดสาลีโขภิตาราม

 

หลวงพ่อจำปา ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ดังแห่งภาคกลาง (ช่วงปีพ.ศ.2485-2504) ที่มีพุทธาคมเข้มขลัง เเละท่านยังเป็นศิษย์พุทธาคมสายตรงของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งในจังหวัดนนทบุรีมีหลวงพ่อจำปากับหลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพังที่ไปร่ำเรียนวิชาจากหลวงปู่ศุข ส่วนวิชาสักหลวงพ่อจำปาท่านได้จากหลวงปู่ศุข เพราะสมัยหลวงปู่ศุขมีชีวิตอยู่ท่านก็เป็นอาจารย์สักเหมือนกัน โดยลูกศิษย์ฆราวาสอีกคนที่มีชื่อเลื่องลือก็คือ”อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว” ที่ได้รับการกล่าวขานเป็น”สายเหนียวทางแม่กลอง”

หลวงพ่อจำปาท่านมีวิชาสักยันต์ ลายสักยันต์ของท่านนั้นมีความขลังด้านคงกระพันและเมตตามหานิยม ลูกศิษย์ของหลวงพ่อจำปามีตั้งแต่นายทหาร นายตำรวจ พ่อค้า ประชาชนทั่วไป ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงปกครอง บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย อีกทั้งมีสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้คนอดอยาก เหล่าเสือผู้ร้ายชุกชุม ปรากฏว่ามีผู้คนต่างพากันมาขอเครื่องรางของขลัง บางคนเดินทางมาไกลเพื่อมาขอเป็นลูกศิษย์และขอให้หลวงพ่อสักยันต์ให้ ยันต์ของหลวงพ่อจะลงยันต์ที่กระหม่อม แล้วจึงมาลงตัวองค์พระต่อไป

โดยเฉพาะเหล่ามือปราบทั้งหลายที่กวาดล้างผู้กระทำความผิดในภาคกลาง ก่อนจะออกพื้นที่ เอาตะกรุดโทนของท่าน ใส่มือยกขึ้นพนมเหนือหัวระลึกถึงหลวงพ่อจำปา แล้วออกไปทำงาน ปะทะกับเหล่าเสือแลกใส่กัน ต่างฝ่ายต่างล้มคว่ำกันไปคนละทาง แต่มือปราบแค่เจ็บเป็นจ้ำๆ เสื้อผ้าเป็นรอยไหม้ ลุกขึ้นมาได้ แต่เสือร้าย คว่ำแล้วคว่ำเลย ไม่มีลุก กลับบ้านเก่าไปตามระเบียบ หรือแม้แต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังเดินทางมากราบนมัสการหลวงพ่อถึงวัดสาลีโข เพราะได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านมานาน และท่านยังเป็นครูอาจารย์ของหลวงพ่อสมภพที่สร้างเหรียญขี่สิงห์อันลือเลื่องของเมืองนนทบุรี

หลวงพ่อจำปาละสังขารลงในปี พ.ศ.2504 บรรดาศิษยานุศิษย์และชาวบ้านพากันเสียใจ ที่ขาดเสาหลักของชุมชนไป ทางวัดจัดงานให้หลวงพ่อและพิธีการต่างๆอย่างเต็มกำลัง จวบจนถึงปี พ.ศ. 2507 หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จึงทำพิธีฌาปนกิจสรีระหลวงพ่อจำปาเนื่องด้วยสังขารหลวงพ่อจำปา เเข็งดั่งหินเผาไม่ไหม้ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าใกล้วัด เมื่อร่างของหลวงพ่อเหลือแต่อังคารและเถ้าธุลี ปรากฏว่าคลื่นศรัทธามหาชนต่างเข้ายื้อแย่งชุลมุนจนเป็นเหตุให้เมรุที่สร้างขึ้นในการนี้ถึงกับพังลงเลยทีเดียว และว่ากันว่าในบทอัญเชิญครู ของผู้ที่สักยันต์สายสาลีโข ก็จะต้องเอ่ยชื่อท่านอยู่ในบทสวดเช่นกัน

ภาพยันต์พญาหนุมานฝีมืออาจารย์เอษณะ(อาจารย์ดี้)เป็นผู้สัก

” หะนุมานะ นะสังสะตัง” คือกำลังพญาหนุมาน
ขอจงมาเป็นกำลังแห่งตัวข้าพเจ้า ในเวลาวันนี้
(ยันต์พญาหนุมานแผลงฤทธิ์ สายวัดสาลีโข)

ในตำรับยันต์หนุมานแผลงฤทธิ์ สำนักวัดสาลีโขภิตาราม ต่างจากสำนักอื่นด้วยลวดลายที่ใช้สักล้วนเป็นอักขระยันต์ที่แทรกอยู่ตามตัวของหนุมานและรายล้อมด้วยอักขระยันต์หนุนธาตุ หนุนกำลังตามที่ได้รับการสืบทอดมาจากหลวงพ่อจำปา นารโท อดีตเจ้าอาวาสวัดสาลีโขภิตารามตกทอดมาถึงหลวงพ่อสมภพ เตชะปุญโญ(หลวงพ่อสาลีโข)

หลวงพ่อสมภพ เตชะปุญโญ(หลวงพ่อสาลีโข)ท่านเป็นนักไสยศาสตร์ตัวยงท่านได้ใช้วิชาสักยันต์สร้างชื่อเสียงทำนุบำรุงวัดสาลีโขภิตารามต่อจากหลวงพ่อจำปา นารโท จนเป็นที่เลื่องลืออย่างมากในยุคปี 2510 ผู้ที่จะมาฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อสาลีโขนั้นต้องได้รับการรับรองจากศิษย์รุ่นเก่าเสียก่อน เพื่อเป็นการคัดกรองบุคคลที่จะมาฝากตัวเป็นศิษย์กับท่านด้วยเหตุปัจจัยหลายประการอีกทั้งยังเป็นการควบคุมพฤติกรรมของเหล่าสานุศิษย์ไม่ให้เป็นนักเลงหัวไม้ และผู้ที่จะได้รับการประสิทธิอักขระยันต์ลวดลายตามร่างกายต้องได้รับการลงกระหม่อมเสียก่อน ในช่วงเวลาที่หลวงพ่อสมภพ ยังคงธาตุขันธ์อยู่นั้นผู้ที่จะได้รับการสักจากท่านยากเสียยิ่งกว่าการหาวัตถุมงคลของท่านมาพกพาติดตัวเสียอีก

โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

ขอบคุณที่มาข้อมูล กลุ่มศิษย์หลวงปู่เผือก วัดสาลีโข

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า