สเน่ห์ลายสักชายไทยในอดีตที่ทำให้บรรดาสาวๆลุ่มหลง

สวัสดีจ้าวันนี้ เรื่องเล่าชาวสยาม จะพาทุกคนมาศึกษาเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ตำนาน อภินิหารพระเกจิ ความลี้ลับ ไสยศาสตร์ เพราะในประเทศไทยของเรานั้น ต่างก็มีจุดเด่นทางความเชื่อและมีสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนาแหล่งรวมประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมาก วันนี้เราขอมานำเสนอเรื่องเล่าของความเชื่อรอยสัก มาให้อ่านเพื่อศึกษากัน ติดตามรับชมกันได้เลย

หากกล่าวถึง รอยสัก บนร่างกายนั้น คนไทยมีความเชื่อจากหลายอย่าง เกิดจากหลายเหตุผล อย่างแรกคือเป็นค่านิยมในท้องถิ่น อย่างพวกทางเหนือ นิยมสักเพราะเห็นว่าเป็นความงามใช้แสดงความเป็นลูกผู้ชาย เพราะการสักร่างกาย ต้องทนเจ็บปวดมาก ผู้ชายต้องมีความกล้าหาญและอดทนความเจ็บปวดได้ ดังนั้นหนุ่มๆที่ไร้รอยสักจะไม่เป็นที่สนใจของหญิงสาวเลย ชายหนุ่มแถบภาคเหนือนิยมสักลวดลายตั้งแต่พุงลงไปจนถึงขา ด้วยหมึกดำ เป็นรอยเต็มพรืดบนร่างกายราวกับนุ่งกางเกงขาสามส่วน ส่วนคนภาคกลางที่ขึ้นไปเห็น จึงเรียกกันชายเหล่านี้ว่า “ลาวพุงดำ”

ลายสักหนุ่มล้านนา

สำหรับชายไทยภาคกลาง ถ้าหากว่าเกิดเป็นชาวบ้านธรรมดา ที่สมัยอยุธยาเรียกว่า “ไพร่” พอโตขึ้นเป็นหนุ่ม อยากสักหรือไม่อยากสักก็ต้องเจอรอยสักทุกคน เพราะทุกคนต้องขึ้นทะเบียนเป็นไพร่หลวงที่มีสังกัดกรมกอง วิธีรู้ว่าใครเป็นไพร่หลวงก็คือต้อง “สักเลก”

คำว่า “เลก” หรือเลข หมายถึงชายฉกรรจ์ โตเป็นหนุ่มจนถึงอายุ 70 ปี มีหน้าที่เข้ามารับใช้ราชการ ปีละกี่เดือนก็ว่ากันไป วิธีรู้ว่าใครเป็นใคร สังกัดไหน ทางการใช้สักคือการเอาเหล็กแหลมแทงตามเส้นหมึกที่เขียนไว้ ทำให้ผิวหนังเป็นรอยตัวอักษร บอกชื่อเมือง ชื่อมูลนายที่สังกัด โดยสักที่ข้อมือด้านหน้า คือด้านหลังมือ รอยนี้ติดแน่นไม่ลบเลือน เอาออกไม่ได้ จะหนีไปไหนทางการบ้านเมืองก็ตามตัวพบเพราะรอยสักนี้เอง

การเป็นไพร่ หมายถึงแรงงานที่ต้องทำฟรีให้บ้านเมือง ในยามสงบก็ถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานต่างๆ ในยามรบก็ถูกเกณฑ์ไปรบ ไม่มีทางหลีกเลี่ยง รอยสักข้อมือจึงเป็นเครื่องหมายของความลำบาก หาทางให้พ้นได้ก็ดี หนทางหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงได้คือไปบวช เพราะพระสงฆ์แม้เป็นชายฉกรรจ์ก็ถือว่าพ้นจากทางโลกไปแล้ว ไม่ถูกเกณฑ์แรงงานใดๆ

การสักต้นขาเพื่อความเป็นชายชาตรี

อนึ่งการสักเพื่อเป็นการ “ลงโทษ” สักแบบนี้คือสักหน้าผาก ไม่ได้สักเป็นลวดลายดำพรืดไปหมด แต่สักเป็น 3 จุดเล็กๆพอให้สังเกตได้ อีกแห่งคือสักท้องแขนใช้กับผู้กระทำผิด ถึงขั้นลงโทษ จำคุก แต่ยกเลิกในปี พ.ศ. 2475 ตัวอย่างคนที่ถูกสักหน้าผากสามจุด คือคุณป้าแท้ๆของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ชื่อคุณป้าชุ่ม ท่านหัดละครรำเป็นตัวพระมาตั้งแต่เด็ก รำละครเป็นตัวพระได้สวยงาม จนได้เป็นครูละคร ท่านคิดท่าเจ้าเงาะของตัวเองขึ้นมา ถ่ายทอดท่ารำให้ลูกศิษย์ลูกหาจนขึ้นชื่อเป็นที่เลื่องลือ เรียกว่า“ท่าเงาะครูชุ่ม”

ลายสักขาลายล้านนา รูปสัตว์หิมพานต์ ภาพจาก thaipost.net

ในชายชาวล้านนานิยมการสักขาลายมาก เมื่อมีอายุย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะทำการสักแทบทุกคน การสักชนิดนี้ใช้หมึกสีดำ ไม่มีการเสกคาถากำกับแต่อย่างใด เพราะเป็นการสักเพื่อความสวยงามตามจารีตประเพณีนิยม เป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเข้มแข็งของลูกผู้ชาย ทั้งนี้เนื่องจากในอดีตคนส่วนใหญ่จะนิยมอาบน้ำในแม่น้ำหรือลำห้วย โดยแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มผู้ชายและกลุ่มผู้หญิง ในสมัยนั้นผู้ชายที่มีรอยสักหมึกตามร่างกาย โดยเฉพาะที่ขาต้องสักขาลายด้วยจึงถือว่าเป็นผู้ชายเต็มตัว หากชายคนใดไม่ได้สักขาลาย ถ้าไปอาบน้ำก็จะถูกล้อเลียนว่าขาขาวเหมือนผู้หญิงควรจะไปอยู่กับกลุ่มผู้หญิง ทำให้ชายผู้นั้นได้รับความอับอายมากและผู้หญิงก็ไม่ชอบผู้ชายขาขาวถือว่าเป็นคนอ่อนแอไม่สมควรเอามาเป็นคู่ครอง ด้วยเหตุนี้ผู้ชายในสมัยนั้นจึงนิยมสักขาลายแทบทุกคน

สทฺโธ สีเลน สมฺปนฺโน ยโสโภคสมปฺปิโต ยํ ยํ ปเทสํ ภชติ ตตฺถ ตตฺเถว ปูชิโต.
ผู้มีศรัทธา ประกอบด้วยศีล เพียบพร้อมด้วยยศและโภคะ
จะไปสู่ถิ่นใด ๆ ก็มีคนบูชาในถิ่นนั้น ๆ

ส่วนความเชื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับการสักหมึก ตัวอย่างเช่น ความมั่นใจ อยู่ยงคงกระพัน ให้โชคลาภหรือรักษาโรค จะพบน้อยมากเป็นเพราะว่าเป็นความเชื่อเฉพาะบุคคล ไม่ได้เป็นเหตุผลสำคัญ จึงไม่มีอิทธิพลต่อผู้สักเท่าไหร่ จะพบเพียงไม่กี่คนที่สักเพื่อจุดมุ่งหมายเฉพาะตัว

การสักต้นขา

การสักขาลายทุกครั้งนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาและความอดต่อความเจ็บปวดที่ได้รับจากการสัก บางคนบอกว่าเจ็บพอทนได้ บางคนบอกว่าเจ็บเหลือประมาณ โดนหลักสักแทงไม่กี่ครั้งก็บอกเลิกกลางคันก็มี การสักนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะใช้เหล็กแหลม ทำจากเหล็กทั้งแท่งตรงปลายแหลมมาก และข้างในเป็นรูกลวงมาตามยาวเพื่อใส่สี ซึ่งมีความยาวตั้งแต่ 30-50 เซนติเมตรส่วนหัวหล่อทองเหลืองเป็นรูปต่างๆ เทวดาบ้าง สิงห์บ้าง แตกต่างกันออกไป เพื่อให้มีน้ำหนักในการกระแทกเหล็กสัก จิ้มให้เป็นลวดลายต่างๆ ลงไปใต้ผิวหนังในเนื้อขาซึ่งมีความเจ็บปวดมาก ฉะนั้นผู้ที่ถูกสัก จะต้องดื่มของเมาให้มึนเสียก่อน เพื่อระงับความเจ็บ ลักษณะการสักหมึกบนร่างกาย มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปดังนี้

  • หมึกขาตัน คือการสักหมึกที่สักจนดำเป็นพืดทั้งขา
    หมึกขาลาย คือสักลายสัตว์ต่างๆ ในกรอบไว้ห่างๆ พอเห็นเนื้อหนังได้บ้าง
    หมึกขายาว คือสักลายจากเอวถึงกลางน่อง
    หมึกขาก้อม คือสักลายจากเอวถึงต้นขา

ซึ่งการสักลายในแต่ละแบบนั้น ก็เป็นการแสดงถึงความอดทน เข้มแข็งทั้งกายและใจด้วย จนในบางครั้งอาจจะได้ยินคำหยอกล้อกันในหมู่ชายล้านนาว่า น้ำหมึกขายาว เอาไว้แป๋งฮาวผ้าอ้อม น้ำหมึกขาก้อมเอาไว้กล่อมแม่ญิงนอน

ลายสักที่สาวยงดงาม

ลวดลายส่วนใหญ่มักจะสักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ คือ เสือ แมว ลิง ค้างคาว ช้าง มอม ที่เด่นอยู่ในบรรดาสัตว์ร้ายทั้งหลายก็คือ ราชสีห์ในนิยาย แต่มีบางพื้นที่ในแถบลุ่มน้ำโขง เช่นเมืองลื้อสิบสองปั้นนา เมืองหลวงพระบาง มักจะสักเป็นลายเกล็ดนาค เพราะเชื่อว่าพวกตนเป็นลูกหลานของพญานาค ซึ่งการสักลายดังกล่าว ก็เพื่อให้พญานาคที่ตนนับถือ มาปกป้องคุ้มครองตน นอกจากนี้ก็ยังมียันต์ต่างๆ ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้อยู่ยงคงกะพัน โดยส่วนใหญ่จะสักเฉพาะขาถึงเข่า แต่บางคนก็สักทั้งตัว ชายล้านนารวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงนิยมสักหมึกกันอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นเอกลักษณ์ของคนแถบนี้ โดยเห็นได้จากตอนที่สยามเข้ามามีบทบาทการปกครองหัวเมืองเหนือ โดยเรียกล้านนาว่า มณฑลพายัพ เมื่อข้าหลวงของสยามเข้ามามีบทบาทในพื้นที่แถบนี้ ก็พบเห็นการสักของชายล้านนา จนเป็นที่สนใจของข้าหลวงชาวสยามและเรียกชาวมณฑลพายัพว่า ลาวพุงดำ เพราะชายชอบสักมอม ตั้งแต่พุงไปถึงเข่า

เป็นยังไงกันบ้างกับหลากหลายเรื่องราวที่เล่าต่อกันมาของตำนานความเชื่อรอยสัก บทความนี้นำมาเผยแพร่เพื่อศึกษาเผยแผ่บารมีเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติคุณครูบาอาจารย์ ทั้งนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

ขอบคุณข้อมูล เว็บบางบางพระ , เรือนไทย

ใส่ความเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า