หลวงปู่ช่วงลูกศิษย์สมเด็จโต ผู้ถูกทำนายว่าจะได้เป็นพระราชาคณะ

สวัสดีจ้าวันนี้ เรื่องเล่าชาวสยาม จะพาทุกคนมาศึกษาเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ตำนาน อภินิหารพระเกจิ ความลี้ลับ ไสยศาสตร์ เพราะในประเทศไทยของเรานั้น ต่างก็มีจุดเด่นทางความเชื่อและมีสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนาแหล่งรวมประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมาก วันนี้เราขอมานำเสนอเรื่องเล่าของพระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) วัดระฆังโฆสิตาราม มาให้อ่านเพื่อศึกษากัน ติดตามรับชมกันได้เลย

หากกล่าวถึง พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) วัดระฆังโฆสิตาราม ท่านเป็นพระเถราจารย์ยุคเก่าผู้มีตบะบารมีแก่กล้า เมื่อวัยเด็กท่านเป็นคนขยันขันแข็ง ร่างกายสมบูรณ์ ได้เป็นกำลังช่วยเหลือพ่อแม่ประกอบอาชีพ มีจิตใจไปในทางกุศล ไม่ชอบทำเวร ทำกรรม ว่านอนสอนง่าย พอมีอายุได้ ๓ ปี นำขำบิดา ซึ่งเป็นศิษย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) วัดระฆังฯ สมัยแต่ยังเป็นพระมหาโต ได้นำท่านมาฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาพระปริยธรรม แต่ครั้งสมเด็จโต ยังดำรงตำแหน่งเป็นพระธรรมกิติ ทั้งนี้ด้วยเห็นนิสัยบุตรคนนี้ว่า เป็นคนใจบุญ ใจกุศล

พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ)

สมเด็จโต ดูลักษณะท่านแล้วทำนายว่า เด็กคนนี้มีวาสนาทางพระถึงขั้นพระราชาคณะ ฉันยินดีรับอุปถัมภ์ นายขำบิดาท่านได้ฟังคำทำนายก็รู้สึกตื้นตันใจในวาสนาของบุตร นับได้ว่า สมเด็จโตเป็นพระอาจารย์ของบิดาแล้วยังได้มาเป็นพระอาจารย์ของท่านอีกชั้นหนึ่ง เป็นกำลังใจให้ท่านเล่าเรียนด้วยความขยันหมั่นเพียรแลจิตมุ่งที่จะอุปสมบทการเล่าเรียนของท่าน สมเด็จโตออกปากว่า

“เจ้าช่วง เอ็งมีสติปัญญาสอนง่ายกว่าเจ้าขำพ่อของเอ็ง”

สมเด็จโตอบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาให้ท่านด้วยความเอ็นดู ครั้นอายุครบบวช สมเด็จโตเวลานั้นได้มับสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์เอนกสถานปรีชา เป็นอธิบดีสงฆ์ วัดระฆังฯ แลเป็นเจ้าคณะใหญ่หอกลาง ได้เรียกนายขำบิดาท่านมาถามว่า

“ฉันจะบวชให้เจ้าช่วง เอ็งคิดจะให้บวชที่วัดระฆังนี่หรือจะเอาไปบวชที่วัดมณฑปในคลองบางระบาดบ้านเอ็ง สำหรับเจ้าช่วงคนนี้ มันจะไปบวชวัดไหน ฉันก็จะต้องไปนั่งเป็นพระอุปัชฌายะ”

นี่แสดงให้เห็นว่า ท่านได้รับใช้สมเด็จ จนสมเด็จเมตตาแก่ท่านเพียงไรในที่สุดนายขำบิดาท่านก็กราบเรียนว่า ขอให้บวชที่วัดมณฑปเพราะญาติโยมผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ใกล้วัดนั้นมาก

สมเด็จโต ได้ฟังก็ตกลงด้วยความยินดี ด้วยท่านจะได้มีโอกาสพบกับชาวบางระบาด ตลิ่งชัน แลโดยเฉพาะท่านสมภารสอน วัดมณฑป ก็เป็นศิษย์ของท่าน เคยไปรุกขมูลธุดงค์กับสมเด็จโต ถึงนครวัด ประเทศเขมร ส่วนทางด้านพม่า ก็ไปถึงพระเจดีย์ชเวดากอง นครร่างกุ้ง จัดว่าเป็นศิษย์รุ่นเก่าที่ใกล้ชิดไว้วางใจ

พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ)

ดังนั้นจึงกำหนดงานอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดมณฑป คลองบางระบาด ณ วันพุธ เดือน ๗ แรม ๑๐ ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๗ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูปลัดสุวัฒน์สมณาจารย์ (มิศร์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสอน วัดมณฑป เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “จันทโชติ” แปลว่า ได้ครองผ้าเหลืองมีรัศมีผ่องใสดังแสงจันทร์ สมกับที่ท่านเกิดวันจันทร์ โฉมตรู แล้วมาบวชวันพุธ นงเยาว์ ตามพระบัญชาของสมเด็จโต พระอุปัชาฌายะ

โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุสฺสีโล อสมาหิโต เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย สีลวนฺตสฺส ฌายิโน

ผู้ไม่มีศีล ไม่มั่นคง ถึงจะเป็นอยู่ตั้งร้อยปี , ส่วนผู้มีศีล เพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่า

ครั้นอุปสมบทแล้ว ได้ทำอาจาริยะวัตรที่วัดมณฑป ๗ วัน ก็กลับมาอยู่ที่วัดระฆังฯ เรียนปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จโต พระอุปัชฌายะ จนมีความรู้แลปฏิบัติเคร่งครัดต่อธรรมวินัย แต่ไม่ได้เข้าแปลเป็นเปรียญ หรือท่านจะถือแบบสมเด็จโต กล่าวคือให้มาเทียบเปรียญให้เอง ก็ยังสืบไม่ได้ความ

คนรุ่นเก่าเคยเล่าว่า ท่านเก่งทางหนังสือ ทางเทศน์ สวดมนต์แม่นยำพระปาฏิโมกข์ มหาชาติชาดก เทศนากัณฑ์ ด้วยสุ้มเสียงไพเราะจับใจ มีคนนิยมมานิมนต์มิได้ขาด เรื่องทางเวทย์มนต์ไม่ต้องบอกก็ได้ว่าเก่งขนาดไหน ท่านถ่ายทอดไว้จากสมเด็จโต จนหมดสิ้นไส้พุงทีเดียว แต่ท่านไม่เคยคุยโอ้อวดแต่อย่างใด ความรู้ทางช่างก็ชัดเป็นช่างฝีมือ ทำงานละเอียด ประณีตบรรจง ทางแพทย์แผนโบราณก็เป็นที่พึ่งได้ทั้งชาววัดชาวบ้านเป็นอย่างดี

ในงานทำบุญอายุครบ ๘๐ ปีของท่าน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านได้รวบรวมผง ๑๐๘ เกสรดอกไม้ เศษอาหารที่เหลือจากฉันเอามาสร้างพระผงตามตำราของสมเด็จโต พระอุปัชฌายะของท่าน ปลุกเสกด้วยตนเองถึง ๗ วัน ๗ คืน พระสมเด็จของท่านนั่งสมาธิ ๓ ชั้น หมายถึง ชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง หรือจะเรียกพระรัตนตรัยก็ได้ มีประสพการณ์ทางเมตตามหานิยมและแคล้วคลาด

ผู้เขียนเคยได้เห็นจาก เจ้าคุณพระธรรมทานาจารย์ (แนบ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังเอามาให้ดู ด้วยเจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง) เป็นอาจารย์ของท่านมอบให้ไว้ บอกว่า ขณะที่ทำชิ้นนี้ ได้เอาผง ๑๐๘ ของสมเด็จโตอุปัชฌายะของท่านที่เก็บไว้ผสมด้วย ท่านมั่นใจได้ว่าดีจริง ๆ เวลานี้ใครเห็นก็ต้องว่าเป็นของสมเด็จโตสร้าง

สมเด็จโต

ท่านได้เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมถาวร แปลว่า มั่นคงอยู่ในธรรมะ เป็นตำแหน่งที่เหมาะสมกับท่านอย่างยิ่ง ด้วยท่านเป็นพระเถะรที่สมบูรณ์ด้วยเถรสมบัติ มั่นคงอยู่ในพรหมจรรย์ เนกขัมมปฏิบัติ จริยาวัตรน่าเลื่อมใส ตั้งอยู่ในสมณสังวร เจรจาไพเรา สุภาพ สงบเสงี่ยม เป็นกันเองแก่คนทั่วไป เคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผน ธรรมวินัย อบรมสั่งสอนให้คนชั่วกลับตัวเป็นคนดีมีตัวอย่างเป็นอันมาก วันหนึ่ง ๆ ท่านจะต้องนั่งทางวิปัสสนาธุระไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง เป็นผู้ไม่ประมาท จึงทำให้มีอายุยืนยาวถึง ๙๒ ปี จัดว่าสมบูรณ์ด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ ควรแกการยกย่อสรรเสริญ แม้จะมรณภาพไปนานแล้วก็ตามก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญตลอดมาจนทุกวันนี้

  • คาถามหานิยมที่ท่านเจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง) ใช้เป็นประจำท่องว่า
    นาสังสิโม สังสิโมนา

เป็นยังไงกันบ้างกับหลากหลายเรื่องราวที่เล่าต่อกันมาของตำนานพระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) วัดระฆังโฆสิตาราม บทความนี้นำมาเผยแพร่เพื่อศึกษาเผยแผ่บารมีเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติคุณครูบาอาจารย์ ทั้งนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

ขอบคุณที่มาบทความเรื่อง พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) โดย: เภา ศกุนตะสุต

 

ใส่ความเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า