สวัสดีจ้าวันนี้ เรื่องเล่าชาวสยาม จะพาทุกคนมาศึกษาเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ตำนาน อภินิหารพระเกจิ ความลี้ลับ ไสยศาสตร์ เพราะในประเทศไทยของเรานั้น ต่างก็มีจุดเด่นทางความเชื่อและมีสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนาแหล่งรวมประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมาก วันนี้เราขอมานำเสนอเรื่องเล่าของหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ มาให้อ่านเพื่อศึกษากัน ติดตามรับชมกันได้เลย
หากกล่าวถึง หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ พระเกจิอยุธยาแห่งเมืองกรุงเก่า ยุคปี พ.ศ.๒๔๖๐ คงไม่มีใครไม่รู้จักกิตติศัพท์ของพระเกจิชื่อดัง ๒ รูป ด้วยกัน คือ หลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติ และ หลวงพ่อขันวัดนกกระจาบ ซึ่งพระสงฆ์ทั้งสองรูปนี้ เก่งกาจและมีวิทยาคมสูง เน้นหนักไปทางด้าน “คงกระพันชาตรี” เรียกได้ว่ากินกันไม่ลง และท่านยังเป็นพระที่เคร่งครัดในพระวินัยชอบเดินธุดงค์ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามป่าตามดงยึดสันโดษ จึงทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก

หลวงพ่อขันท่านเป็นศิษย์หลวงพ่ออ่ำ วัดวงฆ้อง และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และพระเกจิเก่งๆในยุคนั้นอีกหลายท่านด้วยกัน หลวงพ่อขันมีชื่อเสียงในด้านสักอักขระยันต์ต่างๆ ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงนั้นให้ความเคารพรักศรัทธาท่านอย่างมาก และมักจะเดินทางไปให้ท่านสักยันต์ให้มากมาย เนื่องจากว่า ใครก็ตามที่ได้สักยันต์กับหลวงพ่อขันและได้ปฏิบัติตามยึดมั่นในคำสอนของท่าน จะพบแต่ความแคล้วคลาดปลอดภัยอยู่ยงคงกระพันทุกคนไป
ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจริงกับลูกศิษย์หลวงพ่อขันที่ไปโดนนักเลงต่างถิ่นรุมตี แต่ก็ต่อสู้เอาตัวรอดมาได้โดยไม่ได้รับอันตรายจากอาวุธใดๆเลย มีก็แค่แผลฟกช้ำเพียงเล็กน้อย จนทำให้บรรดาหนุ่มเล็กหนุ่มใหญ่ นักเลงในสมัยนั้นๆต่างก็เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์กับท่านและสักยันต์กับท่านด้วยกันทุกคน
ยันต์ที่ขึ้นชื่อมากๆ ของท่าน คือ ยันต์พระบุตร พระลบ ซึ่งเป็นวิชาวัดปากคลองมะขามเฒ่า รูปลักษณะของยันต์ดังกล่าวจะเป็นรูปพระกุมารไว้ผมจุกปักปิ่นสวมสังวาลย์ ถืออาวุธเช่นธนูอยู่ในมือ นิยมสักไว้เป็นคู่เพื่อให้เป็นตัวแทนของพระบุตร-พระลบ ซึ่งเป็นบุตรของพระราม กับนางสีดา ยันต์ชุดนี้จึงมีฤทธานุภาพข่มต่อยันต์หนุมานและสูงกว่ายันต์อีกหลาย ๆ รูปแบบในตำรายันต์ จึงมักไม่สักไว้ในจุดที่ต่ำนักโดยส่วนใหญ่นั้นจะสักไว้ที่หัวไหร่ทั้ง ๒ ข้าง ๆ ละองค์

เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขันหรือต้องการให้ยันต์แสดงฤทธานุภาพคุ้มครองเจ้าของรอยสักต้องเอามือรูปยันต์ทั้ง ๒ พร้อม ๆ กับภาวนาคาถาปลุกยันต์เพื่อให้บังเกิดผลตามปรารถนา ซึ่งพุทธคุณอันหาที่เปรียบมิได้ของยันต์ประเภทนี้ ก็มีทั้งช่วยให้เป็นกำลังทำให้แคล้วคลาดคงกระพัน ทั้งยังช่วยส่งเสริมสง่าราศี ดีทางเมตตามหานิยม และมหาอำนาจอีกด้วย เนื่องจากยันต์ของท่านมีพุทธคุณเข้มขลังเป็นที่ร่ำลือไปทั่วจังหวัด และแพร่สะพัดไปจนถึงเมืองหลวงจึงมีพวกข้าราชการหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนได้ดั้นด้นเดินทางมาหาหลวงพ่อขัน
สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ : ความยินดีในธรรมะ ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง
เพื่อขอให้ท่านสักยันต์ให้ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระยาอุภัยพิพากษา (เกลื่อน ชัยนาม) อดีตผู้พิพากษาศาลมณฑลอยุธยา วิชาการสักยันต์พระบุตร-พระลบอันลือลั่นนั้น
จากบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดาของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กล่าวไว้ว่า พระองค์(กรมหลวงชมพรฯ)ได้สักยันต์ “นะ” วิเศษที่บริเวณกัณฐมณี (ลูกกระเดือก) จากหลวงปู่ขัน วัดนกกระจาบด้วย และจากคำบอกเล่าจากศิษย์ผู้ใกล้ชิด กรมหลวงชุมพรฯทรงรับสั่งกับหลวงพ่อขันฯ ว่า “หลวงพี่”

หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบท่านได้ทำการถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์เพียงไม่กี่คน ศิษย์เอกรูปหนึ่งที่ได้ร่ำเรียนวิชาสักยันต์กับท่านมาโดยตรงคือ หลวงพ่อพรหม ติสสเทโว แห่งวัดขนอนเหนือ ซึ่งหลวงปู่พรหม ก็ได้ตกทอดวิชาสักยันต์ดังกล่าวมาให้กับพระภิกษุเกจิรุ่นปัจจุบันยัง พระอาจารย์สาท ธรรมโชติ หรือ หลวงพ่อโม่ง แห่งวัดขนอนเหนือ ผู้มีศักดิ์เป็นหลานชายแท้ ๆ ของหลวงพ่อพรหมอีกที
หลวงพ่อขันท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบเมื่ออายุ ๗๑ ปี ๕๒ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖
เป็นยังไงกันบ้างกับหลากหลายเรื่องราวที่เล่าต่อกันมาของตำนานหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ บทความนี้นำมาเผยแพร่เพื่อศึกษาเผยแผ่บารมีเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติคุณครูบาอาจารย์ ทั้งนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล