สวัสดีจ้าวันนี้ เรื่องเล่าชาวสยาม จะพาทุกคนมาศึกษาเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ตำนาน อภินิหารพระเกจิ ความลี้ลับ ไสยศาสตร์ เพราะในประเทศไทยของเรานั้น ต่างก็มีจุดเด่นทางความเชื่อและมีสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนาแหล่งรวมประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมาก วันนี้เราขอมานำเสนอเรื่องเล่าของพระเสริม พระสุก พระใส มาให้อ่านเพื่อศึกษากัน ติดตามรับชมกันได้เลย
หากกล่าวถึง พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเจ้า มหาราชลาวได้มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ที่ทรงสร้างพระใหญ่องค์ตื้อไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ มีพระราชธิดา 3 พระองค์ก็ทรงฉลองพระราชศรัทธาตามเสด็จพระบรมชนกนาถ สร้างพระพุทธรูปงดงามขึ้น 3 องค์ คือ พระสุก พระเสริม พระใส

พิธีการหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นั้น พระภิกษุและฆราวาสช่วยกันทำการสูบเตาหลอมทองอยู่ตลอดถึง 7 วัน แต่ทองก็ยังไม่ละลาย พอถึงวันที่ 8 มีเพียงพระภิกษุสูงอายุรูปหนึ่งกับสามเณรรูปหนึ่งสูบเตาอยู่ ก็ปรากฏมีชีปะขาวคนหนึ่งมาอาสาสูบเตาแทนพระและเณร แต่วันนั้นญาติโยมต่างเห็นบรรดาชีปะขาวสูบเตาอยู่เป็นจำนวนมาก
เมื่อพระภิกษุและสามเณรฉันเพลเสร็จแล้วก็จะไปสูบเตาต่อ ปรากฏว่าได้มีผู้เททองลงเบ้าทั้ง 3 จนเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่เห็นชีปะขาวอยู่แม้แต่คนเดียว การหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ สำเร็จลงด้วยดีอย่างน่าอัศจรรย์ พระราชธิดาเสริม สุก และใส ต่างถวายนามของตนเป็นนามของพระพุทธรูป ได้แก่ พระเสริมเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์พี่ พระสุกเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์กลาง และพระใสเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์สุดท้อง
ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ข้าราชการสยามเบียดเบียนชาวข่าจับมาเป็นทาส ได้ความเดือดร้อนหลายครั้ง เจ้าอนุรุทรเวียงจันทน์ ตั้งพระทัยจะประกาศอิสระภาพจากสยาม เกิดเป็นศึกใหญ่ขึ้นระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์และเวียงจันทน์ รับสั่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ว่าที่สมุหนายก เป็นแม่ทัพใหญ่ยกมาทำศึก
ขโณ โว มา อุปจฺจคา : อย่าปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์
หลังจากเสร็จศึกแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้อัญเชิญ พระสุก พระเสริม พระใส ข้ามโขงมาไว้ที่หนองคาย ขณะที่อัญเชิญพระพุทธรูป 3 องค์ลงแพข้ามมานั้น พอถึงปากน้ำงึมเกิดพายุใหญ่ พระสุกได้แหกแพจมลงในแม่น้ำโขงพร้อมทั้งแท่นที่ประดิษฐาน บริเวณเวิ้งน้ำแห่งหนึ่ง (ต่อมาเวิ้งน้ำนี้ถูกเรียกว่า บ้านเวินสุก) ได้แต่พระเสริมกับพระใสมา
ในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปสององค์ลงมาประดิษฐานในกรุงเทพฯ ในขณะที่อัญเชิญพระพุทธ 2 องค์ขึ้นประทับเกวียนเพื่อขนย้ายนั้น เกวียนที่ประดิษฐานพระใสไม่ยอมขยับ เข็นยังไงก็ไม่ไป เปลี่ยนเกวียนที่ใช้บรรทุกหลายเล่มก็เกิดอัศจรรย์เกวียนหักทลายไปทุกเล่มเกวียน พระใสก็จึงยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย หนองคายจนถึงปัจจุบันนี้ ได้แต่พระเสริมลงมากรุงเทพฯ โปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่วัดปทุมวนาราม
ส่วนพระสุกนั้น มีตำนานเล่าว่า ช่วงปี พ.ศ.2467 พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ ปลัดมณฑลอุดร (ต่อมาได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุดร) นำนักโทษประหารคดีเด็ดขาด 8 คน ตกลงว่าหากลงงมพระสุกขึ้นมาได้ จะละเว้นโทษประหารให้ นักโทษทั้ง 8 ลงไปงมก็ได้พระสุกขึ้นจากน้ำ พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ปกปิดเป็นความลับไว้ ด้วยเกรงว่าพระสุกจะต้องถูกส่งลงไปกรุงเทพฯ
เนื่องจากพระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์เติบโตมาจากวัดศรีธรรมหายโศก (วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร) พระอาจารย์มี คำภีโร บิดาได้บวชอยู่ที่นี่ พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ เคยอุปสมบทเป็นสามเณรที่วัดนี้ เมื่ออายุได้ 12 ปี ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯ สอบเปรียญธรรม สึกเป็นฆราวาส แล้วถวายตัวสนองงานใกล้ชิด สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จนได้เป็นปลัดมณฑลอุดรดังกล่าว พระยาอุดรธานีโขมสาครจึงได้นำพระพุทธรูปองค์ที่งมได้นี้กลับมาเมืองยโสธรและถวายให้กับวัดศรีธรรมหายโศก ให้ชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระคัมภีรพุทธเจ้า สนองคุณบิดา

ต่อมาได้นำเรื่องนี้เล่าถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จกรมพระยาฯ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองใน คราวเสด็จตรวจหัวเมืองมณฑลอีสาน พร้อมทั้งทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดอโศการาม ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานชื่อใหม่เป็นวัดสร่างโศกเกษมสันต์ แล้วเปลี่ยนเป็นวัดศรีธรรมาราม คราบูรณะวัด พร้อมตั้งโรงเรียนศรีธรรมวิทยา พ.ศ.2500 ครั้งพระครูพิศาลศีลคุณ (บุญสิงห์ สีหนาโท) เป็นเจ้าอาวาส
เรื่องราวตำนานปฏิบัติการลับพระสุก วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ในวงสนทนาของผู้ที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์โบราณคดี จนถึงปัจจุบันนี้
เป็นยังไงกันบ้างกับหลากหลายเรื่องราวที่เล่าต่อกันมาของตำนานพระเสริม พระสุก พระใส บทความนี้นำมาเผยแพร่เพื่อศึกษาเผยแผ่บารมีเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติคุณครูบาอาจารย์ ทั้งนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล