หลังบางระจันแตก “พระอาจารย์ธรรมโชติ” หายไปไหน

สวัสดีครับวันนี้ทีมงานพาทุกคนมาศึกษาเรื่องเล่า พระอาจารย์ธรรมโชติ มาให้อ่านเพื่อศึกษากัน ติดตามรับชมกันได้เลย

หากกล่าวถึง พระอาจารย์ธรรมโชติ เดิมชื่อ “โชติ” พื้นเพเป็นชาวเขานางบวช จ.สุพรรณบุรี เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๒๔๓ ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา บิดาของท่านชื่อ “สมเด็จเจ้าภิรมย์” เชื้อสายเจ้าผู้ครองนครจำปาสัก ประเทศลาว มารดาชื่อ “บาง” เป็นธิดาของคุณอิ่ม กับขุนวาสีห์สุรเดช กรมการเมืองนครพนม

พระอาจารย์ธรรมโชติ วัดโพธิ์เก้าต้น

พระอาจารย์ธรรมโชติ บวชเรียนครั้งแรกที่ “วัดยาง” บ้านแสวงหา จ.อ่างทอง ได้ฉายาว่า “ธรรมโชติรังษี” เมื่อบวชได้ ๖ พรรษา ได้ย้ายมาตั้งสำนักสงฆ์บริเวณถ้ำบนยอดเขานางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ต่อมาคือ “วัดเขานางบวช” ในปัจจุบัน พระอาจารย์ธรรมโชติ มีความรู้ด้านวิชากสิณ มีวิชาอาคมที่แก่กล้า ด้วยทั้งพรรษาและวิชาต่างๆ ที่ได้ศึกษาฝึกพร่ำร่ำเรียนมา ใครเห็นล้วนแต่เกิดศรัทธาในตัวท่าน ท่านสามารถแสดงอภินิหารได้เป็นที่ประจักษ์หลายอย่างเช่น หายตัว ย่นระยะทาง เดินบนผิวน้ำ

ในช่วงต้นปีระกา พ.ศ.๒๓๐๘ พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า ประสงค์จะตีกรุงศรีอยุธยา จึงให้เนเมียวสีหบดี ยกกองทัพเข้ามาทางเมืองเชียงใหม่ ลงมาตีกรุงศรีอยุธยาทางด้านเหนือ อีกทางให้มังมหานรธา ยกกองทัพลงมาทางเมืองทวาย เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาทางด้านตะวันตก บรรจบกับ กองทัพเนเมียวสีหบดี อีกทางหนึ่ง ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียเอกราชเป็นครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๑๐) นั้นได้เกิดวีรกรรมขึ้นที่บ้านบางระจัน ชาวบ้านเมืองสิงห์ เมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสรรค์ ได้รวมตัวกันที่ค่ายบางระจันต่อสู้กับพม่าอย่างเต็มกำลัง “พระอาจารย์ธรรมโชติ” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นว่าได้มาเป็นที่พึ่งทางใจ คอยบำรุงขวัญและกำลังใจของชาวบ้านที่ค่ายบ้านบางระจัน

เมื่อท่านอายุได้ ๖๖ พรรษา กองทัพพม่าได้เคลื่อนพล เพื่อมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยได้ตีหัวเมืองต่างๆ เรื่อยลงมา จนถึงบ้านบางระจัน เมืองสิงห์บุรี ชาวบ้านบางระจัน นำโดยขุนสรรค์พันเรืองกำนัน นายทองเหม็น นายจันทร์หนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายดอก และนายทองแก้ว ได้รวมตัวกันลุกขึ้นต่อสู้กับกองทัพพม่าโดยไม่หลบหนีและไม่กลัวตาย

ชาวบ้านบางระจันได้อาราธนาพระอาจารย์ธรรมโชติ จากวัดเขานางบวช ให้ไปพำนักอยู่ ณ วัดโพธิ์เก้าต้น เมืองสิงห์บุรี ซึ่งตั้งอยู่ในค่ายบางระจัน เพื่อเป็นศูนย์รวมขวัญ และกำลังใจ ด้วยเหตุที่พระอาจารย์ธรรมโชติ มีความเชี่ยวชาญทางด้านไสยเวทเป็นอย่างสูง จึงได้ลงอาคมบนผ้าประเจียดท่าน เสกตะกรุดพิสมร แจกจ่ายให้นักรบค่ายบางระจัน เพื่อให้คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด มหาอุด กำบังตัว

พม่าพยายามปราบปรามพวกชาวบ้านบางระจัน โดยให้กองทัพยกไปถึง ๗ ครั้งก็แพ้ไทยมาทุกที เนเมียวสีหบดี ก็ร้อนใจ ด้วยสังเกตเห็นพวกชาวบ้านบางระจันมีกำลังมากขึ้นทุกที เกรงจะยกเป็นทัพใหญ่ลงมาตีกระหนาบ จะหาใครอาสาคุมพลไปปราบปรามพวกชาวบ้านบางระจันอีก พวกนายทัพนายกองพม่าก็พากันครั่นคร้ามเสียโดยมาก

ชาวบางระจัน

ขณะนั้นมีมอญคนหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาช้านานแล้ว ไปฝากตัวอยู่กับพม่า ได้ช่วยพม่ารบพุ่งแข็งแรง จนเนเมียวสีหบดี ตั้งให้เป็นตำแหน่ง “สุกี้” หรือพระนายกอง เข้าไปรับอาสาจะตีค่ายบางระจันให้แตกจนได้

เนเมียวสีหบดี จึงเกณฑ์กองทัพรวมทั้งมอญ ให้สุกี้คุมไปรบกับชาวบ้านบางระจันเป็นครั้งที่ ๘ และได้ทำลายค่ายบางระจันแตกลงเมื่อวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ พ.ศ.๒๓๐๙ เนื่องจากชาวบ้านบางระจันขาดแคลนปืนใหญ่ และมีกำลังพลน้อยนิด ไม่อาจต้านทานกองทัพของฝ่ายพม่าที่มีจำนวนมากได้ แต่ก็ได้ฝากวีรกรรมอันลือลั่นไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย รวมระยะเวลาที่ชาวบ้านบางระจันสู้รบกับพม่าทั้งสิ้นจำนวน ๕ เดือน

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เสด็จประพาสวัดเขานางบวช เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ดังนี้

“เขานางบวชนี้ เป็นที่ราษฎรนับถือมาก มีกำหนดขึ้นไหว้พระในกลางเดือน ๔ มาแต่หัวเมืองอื่นๆ ก็มาก ใช้เดินทางบกทั้งนั้น ความนี้ย่อมทำให้เรารู้ว่า หลังสงครามไทย-พม่าสงบแล้ว พระอาจารย์ธรรมโชติ น่าจะกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเขานางบวชจริง จนกระทั่งมรณภาพ เพราะเกียรติคุณของท่านประชาชนจึงศรัทธาเรื่อยมา หาไม่เช่นนั้นประชาชนจะศรัทธาด้วยอะไร ถ้าไม่มีใครคนหนึ่งคนใดเป็นหลักให้ประชาชนนับถือ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าพระอาจารย์ธรรมโชติ กลับมาวัดเขานางบวชจริง”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ในหนังสือ “ไทยรบพม่า” ว่าพระอาจารย์ธรรมโชตินั้นได้หายสาบสูญไป หรือจะมรณภาพในเวลาเสียค่ายพม่า หรือหนีรอดไปได้ หาปรากฏไม่ แต่ตามความเชื่อและตำนานท้องถิ่นที่เชื่อถือได้ของชาวสุพรรณบุรี เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อค่ายบางระจันมีทีท่าว่าจะแตก ท่านและลูกศิษย์ใกล้ชิดได้ใช้วิชาล่องหน กำบังกายหลบหนีออกจากค่าย และไปพักจำพรรษาอยู่ที่วัดในนครจำปาสัก ประเทศลาว ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของโยมบิดาท่านเป็นเวลา ๓ ปี จนสงครามสงบจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดเขานางบวชอีกครั้ง โดยลูกศิษย์ทำช่องลับไว้ให้ท่านซ่อนตัวอยู่บริเวณวิหารของท่าน (ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่) เพื่อไว้ให้ท่านนั่งเจริญสมาธิกรรมฐาน บำเพ็ญกุศลบำเพ็ญเพียร โปรดแก่เหล่าสรรพสัตว์ วิญญาณวีรชนของชาวบ้านบางระจันสืบต่อมา

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ท่านมีอายุยืนยาวต่อมาอีกหลายปี โดยได้รับสมณศักดิ์พัดยศเป็น “พระครูธรรมโชติรังสี” จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี และท่านได้มรณภาพลงที่วัดเขานางบวชนี้เอง ด้วยโรคชรา เมื่อพ.ศ.๒๓๒๕ สิริอายุได้ ๘๒ ปี

อนึ่ง ที่วัดโพธิ์เก้าต้น หรือวัดไม้แดง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณค่ายบางระจัน อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี เป็นสถานที่วีรชนชาวบ้านบางระจัน ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ใช้เป็นที่มั่นในการต่อต้านข้าศึก ภายในวัดโพธิ์เก้าต้นนั้น บริเวณวัดมีวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นวิหารทรงจตุรมุข โดยมีรูปปั้นพระอาจารย์ธรรมโชติสถิตอยู่ภายในวิหารเพื่อให้ผู้ที่เคารพศรัทธาได้มาสักการะกัน

สมัยที่พระอาจารย์ธรรมโชติ ยังมีชีวิตอยู่ท่านได้สร้างพระพิมพ์ไว้หลายประเภท ที่สำคัญคือสร้างพระพิมพ์ว่านจำปาสักไว้จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ขณะที่ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่วัดในนครจำปาสัก ประเทศลาว หลังค่ายบางระจันแตก และสร้างพระพิมพ์ถ้ำเสือไว้จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ที่วัดเขานางบวช ช่วงระยะเวลาที่ท่านกลับมาอยู่วัดนี้อีกครั้ง หลังจากกลับมาจากนครจำปาสัก ซึ่งพระพิมพ์ถ้ำเสือ ส่วนหนึ่งท่านได้นำไปบรรจุไว้ตามถ้ำต่างๆในเขต จ.สุพรรณบุรี เพื่อเป็นพุทธบูชา

บทความโดยคุณ ไพศาล ถิระศุภะ

โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า