หากกล่าวถึง พระราชมนู เดิมทีท่านเป็นทหารเอกคู่พระทัย “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เป็นแบบอย่างของข้าราชการไทย ที่รักแผ่นดินจนสิ้นลมหายใจ เป็นผู้ร่วมกอบกู้เอกราชจากพม่าในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนับว่าท่านเป็นวีรบุรุษสามัญชนอีกท่านหนึ่งที่เสียสละเพื่อแผ่นดิน
![](https://kidnan.com/wp-content/uploads/2019/10/1742412_912293902165543_567162533_n.jpg)
พระราชมนู หรือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี เป็นขุนศึกและสมุหพระกลาโหมคนสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชมนู เกิดเมื่อไรและมีชื่อใดไม่ปรากฏ แต่ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชคราวประกาศอิสรภาพ จึงสันนิษฐานว่าครอบครัวของพระราชมนูอาจถูกกวาดต้อนคราวเสียกรุงฯครั้งที่ ๑ ได้มีการกล่าวไว้ในพงศาวดารว่าพระราชมนูเป็นทหารที่เก่งกล้าและมีความสามารถ พระราชมนูมักออกศึกเคียงคู่พระนเรศวรในการตีเมืองต่างๆเสมอและสามารถชนะกลับมาได้เกือบทุกครั้งรวมถึงศึกยุทธหัตถีที่ตำบลหนองสาหร่าย
ภายหลังพระราชมนู ได้รับการโปรดเกล้าจากสมเด็จพระนเรศวรให้เป็นออกญาพระสมุหกลาโหม เป็นแม่ทัพที่เก่งกล้าสามารถผู้หนึ่งที่กองทัพไทยเคยมีมา เป็นแม่ทัพในศึกสำคัญๆหลายครั้ง เช่น ศึกพิชิตทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ ศึกนันทบุเรงล้อมกรุง ศึกตีทัพพระมหาอุปราชาแตกครั้งแรกที่เมืองกาญจน์ ศึกยุทธหัตถี ไปจนถึงศึกตีเมืองละแวก และหลังจากที่พิชิตละแวกได้ในครั้งนี้นี่เอง ที่พระราชมนู ได้รับการอวยยศให้เป็น “ออกญามหาเสนา ว่าที่สมุหพระกลาโหม” ซึ่งเป็นตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ คุมกิจการทหารทั่วทั้งพระราชอาณาจักร
![](https://kidnan.com/wp-content/uploads/2019/10/นเรศวร1.jpg)
พระราชมนูยังมีความอารมณ์ร้อนอย่างที่ใครๆในยุคนั้นไม่กล้า คือการขัดรับสั่งของพระนเรศ ในคราวตามเสด็จศึกพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งพระราชมนูขัดรับสั่งถอนทัพโดยกล่าวว่า “การรบกำลังติดพัน กลัวว่าถอยแล้วจะเป็นเหตุให้ข้าศึกตามตี” เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระองค์จึงได้ปูนบำเหน็จให้พระราชมนูขึ้นเป็น เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี ที่สมุหพระกลาโหม พระราชทานพานทอง น้ำเต้าทอง เจียดทองซ้ายขาว กระบี่ ฝวักทองและเครื่องอุปโภคต่างๆ
หลังจากเปลี่ยนแผ่นดิน พระราชมนู ได้ลาออกจากราชการในตำแหน่งพระสมุหกลาโหม แล้วบวชอยู่ที่วัดช้างให้ จนสิ้นอายุขัย ทางคณะศิษย์ และชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิพระราชมนู รูปทรงกลม (ระฆังคว่ำ) บรรจุร่างทหารเอกคู่ใจสมเด็จพระนเรศวร และตั้งอยู่ในวัดช้าง (ช้างให้) ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นเจดีย์รูปทรงกรม (ระฆังคว่ำ) สมัยอยุธยาตอนปลาย บรรจุอัฐิพระราชมนู ทหารเอกคู่ใจสมเด็จพระนเรศวร พร้อมด้วยเจดีย์บรรจุอัฐิภรรยาพระราชมนู.
เป็นยังไงกันบ้างกับหลากหลายเรื่องราวที่เพจเรื่องเล่าชาวสยามได้นำมาเล่าต่อของตำนานขุนศึกเอกพระราชมนู บทความนี้นำมาเผยแพร่เพื่อศึกษาเผยแผ่บารมีเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติบุคคลคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านผู้มีพระคุณ ทั้งนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล