สวัสดีจ้าวันนี้ เรื่องเล่าชาวสยาม จะพาทุกคนมาศึกษาเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ตำนาน อภินิหารพระเกจิ ความลี้ลับ ไสยศาสตร์ เพราะในประเทศไทยของเรานั้น ต่างก็มีจุดเด่นทางความเชื่อและมีสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนาแหล่งรวมประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมาก วันนี้เราขอมานำเสนอเรื่องเล่า หลวงพ่อภู วัดอินทร์ มาให้อ่านเพื่อศึกษากัน ติดตามรับชมกันได้เลย
หากกล่าวถึง หลวงปู๋ภู วัดอินทร์ มีเรื่องเล่าไว้ว่า คราวหนึ่งท่านธุดงค์ในเวลาดึก น้ำป่าได้ไหลท่วมมาโดยฉับพลัน ระดับน้ำท่วมถึงหัวเข่า บาตรของท่านหลุดมือไหลตามน้ำไป ท่านจึงลุยน้ำขึ้นมาในที่ดอนใต้ต้นไม้ใหญ่ แล้วตั้งสัตยาธิษฐานต่อเทพยดาที่รักษาต้นไม้นั้น ขอให้ได้บาตรกลับคืนมา เพราะในการรุกขมูลหรือธุดงค์ หากไม่มีบาตรอันเป็นสิ่งหนึ่งในเครื่องอัฐบริขารเสียแล้ว ย่อมทำความลำบากให้แก่ท่านเป็นอันมาก เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่บาตรซึ่งไหลลอยไปตามน้ำ ได้ไหลทวนมาที่ใกล้กับที่ท่านพักอยู่
สำเร็จวิชา ๖ อย่าง วิชาที่ท่านได้เล่าเรียนนั้น ศิษย์ของท่านได้บันทึกไว้ว่า ท่านสำเร็จวิชา ๖ อย่าง คือ ๑. เมฆ ๒. กสิณ ๓. สันโดษ ๔. สมถกรรมฐาน ๕. วิปัสนากรรมฐาน ๖. น้ำมนต์เดือด
กับวิชาอื่นในด้านวิทยาคมและอาถรรพณเวท วิชาทั้ง ๖ นี้ ท่านใช้เวลาศึกษาครั้งละวิชา วิชาละ ๑๐ ปี แต่วิชาทำน้ำมนต์เดือดล้นบาตร คือวิชาที่ทำน้ำมนต์ซึ่งเป็นน้ำธรรมดา แล้วภาวนาจนน้ำนั้นเดือดจนล้นบาตรหรือภาชนะที่ใส่น้ำนั้น ท่านบอกว่าวิชานี้ใช้เวลาเรียนถึง ๑๑ ปี รวมเวลาที่ท่านได้ศึกษาวิชาต่าง ๆ ทั้งในทางพุทธและทางไสยถึง ๗๑ ปี
ตลอดระยะเวลาที่หลวงปู่ภูมีชีวิตอยู่ ท่านมิได้ใช้เวลาให้ว่างเปล่า ทุกเวลาของท่านมีค่ามาก มุ่งหน้าปฏิบัติมีพุทธภูมิเป็นที่ตั้ง การร่ำเรียนวิชาอาคม ก็เพียงเพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บ นับว่าท่านมีเมตตาธรรมสูงส่ง การที่ท่านมุ่งมั่นเรียนวิชาดูเมฆ หรือเรียกกันว่า วิชาเมฆฉาย ในพจนานุกรมหมายความว่า “การอธิษฐาน” โดยบริกรรมด้วยมนต์คาถาจนเงาของคนเจ็บลอยขึ้นไปในอวกาศ แล้วพิจารณาดูคนเจ็บนั้นเป็นอะไร
ส่วนวิชากสิณนั้นหมายถึงอารมณ์ที่กำหนดธาตุทั้งสี่ มีปฐวี อาโป เตโช วาโย , วรรณ ๔ คือ นีล ปีต โลหิต โอกทาต อากาศแสงสว่าง ก็คือ อาโลกกสิณ ซึ่งวิชาทั้งสอง ท่านได้เพียรพยายามศึกษาเพื่อมุ่งช่วยเหลือมวลมนุษย์ ที่ประสบเคราะห์กรรม
การบำเพ็ญปฏิบัติของท่านจะเริ่มขึ้นหลังจากท่านได้ฉันจังหันแล้ว คือเวลา ๐๗.๐๐ น. ตรง ตลอดชีวิตท่านฉันเพียงมื้อเดียว(ถือเอกา)มาโดยตลอด ผลไม้ที่ขาดไม่ได้คือ “กล้วยน้ำว้า” ท่านบอกว่าเป็นโสมเมืองไทย ท่านออกบิณฑบาตทุกวัน ซึ่งถือเป็นกิจวัตรของพระสงฆ์ที่พึงปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่จำเป็นจะต้องออกก็ได้ เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์พินิตได้จัดอาหารมาถวายทุกวัน แต่ท่านก็ได้บอกว่า “การออกบิณฑบาตโปรดสัตว์เป็นกิจของสงฆ์”
อปฺปกา เต มนุสฺเสสุ เย ชนา ปารคามิโน อถายํ อิตรา ปชา ตีรเมวานุธาวติ :ในหมู่มนุษย์ คนที่ถึงฝั่ง ( นิพพาน) มีน้อย, ส่วนประชานอกนี้ วิ่งอยู่ตามชายฝั่ง
เมื่อท่านฉันจังหันเสร็จแล้ว ก็จะครองผ้าลงโบสถ์และลั่นดานประตู เพื่อมิให้ผู้ใดเข้าไปรบกวนท่าน ท่านจะเจริญพุทธมนต์ถึง ๑๔ ผูก วันละ ๗ เที่ยว แล้วจึงนั่งวิปัสสนากรรมฐานต่อไปจนถึงเที่ยงทุก ๆ วัน ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ขณะที่นั่งกรรมฐานอยู่ พอได้เวลาเที่ยง ทางการจะยิงปืนใหญ่(เพื่อบอกเวลาว่าเที่ยงแล้ว) ในขณะที่ยิงปืนใหญ่ กูหงายหลังทุกที พอท่านพักได้ชั่วครู่ก็จะบำเพ็ญเจริญภาวนาต่อไปจนถึงตีหนึ่ง จึงจะจำวัด
ถึงแม้ตอนท่านชราภาพ ท่านก็มิได้ขาดจากการลงทำวัตร เว้นแต่ท่านอาพาธหนักจนลุกไม่ไหวท่านก็เจริญวิปัสสนา โดยการนอนภาวนา ซึ่งในพระธรรมวินัยได้กล่าวไว้ เรื่องวิปัสสนากรรมฐานการปฏิบัติด้วยอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ปฏิบัติได้
ท่านเคยเปิดก้นให้ลูกศิษย์ดู พร้อมกับถามลักษณะว่าก้นของกูเป็นอย่างไร ลูกศิษย์ก็ตอบว่า “ก้นหลวงปู่ด้านเหมือนกับก้นของลิง” ท่านจึงได้บอกว่า “ปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ได้ดี แล้วจะดีเมื่อไหร่ คนที่เป็นอาจารย์เขา “จริง” อย่างเดียวไม่พอ ต้อง “จัง” ด้วย คือต้องทั้งจริงและจังควบคู่กันไป (ต้องรู้แจ้งแทงตลอด)
คัดลอกเรื่องราวจากการรวบรวมของคุณเฉลียว จันทรทรัพย์
เป็นยังไงกันบ้างกับหลากหลายเรื่องราวที่เพจเรื่องเล่าชาวสยามได้นำมาเล่าต่อของตำนา หลวงปู๋ภู วัดอินทร์ บทความนี้นำมาเผยแพร่เพื่อศึกษาเผยแผ่บารมีเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติบุคคลคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านผู้มีพระคุณ ทั้งนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล