หากเอ่ยถึง เมืองเพชรบุรี ในอดีตเป็นที่ร่ำลือนักว่าเป็นเมืองคนดุ เมื่อก่อนถึงกับถูกขนานนามว่าเป็นเมืองมือปืน ดังนั้นพระเกจิอาจารย์ของเมืองนี้ ที่มีชื่อผงาดขึ้นมาได้ ล้วนเป็นครูบาอาจารย์สายคงกระพันทั้งสิ้นเมืองเพชรบุรีนี้ จึงมีเกจิอาจารย์สายสักอยู่มาก เช่น หลวงพ่อเยิ้ม วัดใหม่บางจาก จะสักยันต์หนุมานออกศึก หลวงพ่อแล วัดพระทรง จะสักยันต์ลิง ๑ ถึงลิง ๙ แต่ที่นิยมสักยันต์คางคกอย่างเดียว คงมีแต่หลวงพ่อใบ วัดหนองบัว ท่านจะเด่นในด้านสักยันต์คางคก
หลวงพ่อใบ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี หนึ่งในศิษย์พุทธาคมหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านเกิดในตระกูล “งามขำ”เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ เม.ย.๒๔๖๕ ณ บ้านหนองบัว ต.หนองจอก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี อุปสมบทที่วัดหนองบัว เมื่อวันที่ ๑๐ ก.ค. ๒๔๘๕ มีหลวงพ่อทองศุข ( พระครูพินิจสุตคุณ ) วัดโตนดหลวง อ.ชะอำ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูวัน วัดหนองศาลา และพระอธิการชิน วัดท่าขาม เป็นพระคู่สวด ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๙ ธ.ค. ๒๕๑๙
วัตถุมงคลที่หลวงพ่อใบจัดสร้างยุคแรกๆคือ พระฤกษ์พระชัย ( งั่ง ) เศียรโล้น และเศียรแหลม,ตะกรุด,ปลัดขิกไม้ ,ภาพถ่าย,เสื้อยันต์
เหรียญรุ่นแรก ปี ๒๕๒๑ ผู้ดำเนินการสร้างคือพระสวัสดิ์ ( ปัจจุบันคือพระครูพิพัฒน์วชิรปัญญาวุฒิ เจ้าอาวาสวัดนายาง ต.นายาง อ.ชะอำ ) พระเกจิอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกมี หลวงพ่อใบ วัดหนองบัว หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก หลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง หลวงพ่อตัดวัดชายนา หลวงพ่อห่วย (เฮง) วัดห้วยทรายใต้ หลวงพ่อหล่อ วัดหนองศาลา และเกจิอาจารย์ร่วมสมัยอีกหลายท่าน
พระสมเด็จ พิมพ์อกร่องหูบายศรี และสมเด็จสีต่างๆ ( พระลูกวัดช่วยกันทำ กดหลังเหรียญ และผสมเกศาของหลวงพ่อใบ ) แหวน มี ๒ ขนาด ปลุกเสกพร้อมกับเหรียญรุ่นแรก เหรียญรุ่น ๒ จัดสร้างโดยพระหลวงตาแนะ ในปี ๒๕๒๒ เนื่องจากเหรียญรุ่นแรกได้แจกหมดลงในปีแรก ปลุกเสกเดี่ยวโดยหลวงพ่อใบ
แต่สิ่งที่ลูกศิษย์ของท่านยอมรับและสร้างชื่อให้ท่านอย่างมากก็คือ การสักยันต์เป็นยันต์รูปคางคก เป็นอีกยันต์หนึ่ง ที่มีคนเชื่อว่าเป็นยันต์สุดเหนียวยันต์หนึ่ง ดังนั้น สำนักสักส่วนมากล้วนมียันต์คางคก เคยมีลูกศิษย์ถามว่า ทำไมต้องเป็นยันต์คางคก อาจารย์ท่านนั้นตอบว่า เวลาคางคกโดนรถทับ จะบี้แบนเฉย หนังคางคกจะเหนียว จะไม่ฉีกออก โบราณจารย์จึงผูกยันต์คางคกขึ้นมาเพื่อใช้ทางคงกระพัน
แม้แต่ทางเมืองจีน ก็มีความเชื่อเรื่องคางคกเหมือนกัน เวลากล่าวถึงวิชาคางคก ก็จะเป็นคงกระพันชาตรี ฟันแทงไม่เข้าเหมือนกัน
แต่ที่สักยันต์คางคกเป็นล่ำเป็นสัน คงมีแต่หลวงพ่อใบ วัดหนองบัว
ยันต์มีแบบ ๑ ตัว ๒ ตัว ๗ ตัว และ ๙ ตัว ส่วนมากจะไม่ค่อยสักยันต์ ๑ ตัวกับยันต์ ๙ ตัว ท่านจะไม่ค่อยสักให้ใคร เพราะสักไปแล้วเป็นเสือเป็นสางหมด
หลวงพ่อใบท่านได้มรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ ๑๕ ต.ค. ๒๕๓๑ สิริอายุ ๖๗ ปี
โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล