“วัวธนู” สัตว์เวทย์ผู้พิทักษ์ สร้างด้วยวัตถุอาถรรพ์ ปกป้องเจ้าของ จากคุณไสยผู้คิดร้าย

วัวธนู ถือเป็นสัตว์ภูติเวทย์เครื่องรางตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ เชื่อว่าสามารถใช้ให้เฝ้าบ้านหรือไร่นา ใช้งานได้ตามความประสงค์ ทั้งป้องกันภูตผีและโจรผู้ร้าย และสามารถสั่งให้ไปโจมตีคู่อริได้

มีคาถาใช้เสกเมื่อทำวัวธนูว่า โอมปู่เจ้าสมิงไพร ปู่เจ้ากำแหงให้กูมาทำควาย เชิญพระอีศวรมาเป็นตาซ้าย เชิญพระอาทิตย์มาเป็นตาขวา เชิญพระนารายณ์มาเป็นเขา เชิญพระอินทร์เจ้าเข้ามาเป็นหาง เชิญพระพุทธคีเนตร์ พระพุทธคีนายมาเป็นสีข้างทั้งสอง เชิญพระจัตตุโลกบาลทั้งสี่มาเป็นสี่เท้า เชิญฝูงผีทั้งหลายเข้ามาเป็นไส้พุง นะมะสะตีติ

มีเรื่องเล่าขานจากผู้เฒ่าผู้แก่กันมาถึงเรื่องการต่อสู้ ของวัวธนูกับเสือสมิง 4 ตัว ว่า มีพระธุดงค์รูปหนึ่งได้ธุดงค์แสวงหาความสงบเงียบ วันหนึ่งขณะธุดงค์เข้าไปในราวป่าปราศจากบ้านเรือนของผู้คน เป็นเวลาที่ตะวันกำลังจะลาลับขอบฟ้าไปแล้วนั้น สิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าในสายตาไกลลิบๆ คือ อุโบสถร้างกลางป่า ระหว่างทางนั้นก็ได้พบกับชายชรานุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่ง ซึ่งได้ขอติดตามพระธุดงค์ไปด้วยความห่วงใย ระหว่างเดินไปได้พบต้นไผ่ที่โน้มกิ่งลำต้นขวางทาง ชายชราได้หยิบมีดหมอจากย่ามฟันกิ่งไผ่นั้นแล้วจัดการจักเป็นตอกได้กำใหญ่ ก็เดินทางกันต่อไป

แต่ขณะเดินไปชายชราก็นำตอกไผ่นั้นมาสานเป็นสิ่งหนึ่ง เมื่อสานเสร็จก็นำใส่ไว้ในย่าม จนกระทั่งเดินมาถึงอุโบสถร้าง ที่ด้านหลังอุโบสถยังมีศาลาหลังเล็กซึ่งผุพังหลังคาโหว่ และเห็นพระภิกษุ 4 รูปชุมนุมกันอยู่ แต่ก็หาได้ทักทายกับพระธุดงค์และชายชราไม่ อีกทั้งยังก้มหน้าไม่ยอมสบสายตา แต่ที่เห็นนั้นสายตาของพระภิกษุทั้ง 4 หาเหมือนดังสายตาคนปกติไม่ ดูไปเหมือนสายตาของสัตว์ร้าย ชายชราจึงรีบนำพระธุดงค์เข้าไปในอุโบสถร้างและปิดประตูหน้าต่างลงกลอนอย่าง รีบเร่ง แล้วจึงปัดกวาดพื้นอุโบสถให้พอพักอาศัยได้ จากนั้นชายชราได้ล้วงย่ามหยิบเอาเทียนขี้ผึ้งออกมา 2 เล่ม พร้อมธูปสามดอก จุดบูชาพระรัตนตรัยและบอกให้พระธุดงค์ทำวัตรเย็น

เสร็จสิ้นแล้วชายชราได้นั่งจักสานตอกไผ่ของแกไปเรื่อยๆ ตรงมุมอุโบสถ จนตะวันลับฟ้าไปแล้ว ทันใดก็มีเสียงของเสือคำราม พร้อมสายลมพัดพา กลิ่นสาบลอยเข้ามา ชายชรากระซิบบอกพระธุดงค์ให้ตั้งสมาธิจิตบริกรรมพระพุทธคุณ มีสิ่งใดผิดปกติอย่าได้สนใจเป็นอันขาด เสียงของเสือนั้นดูใกล้เข้ามาจนได้ยินเสียงหายใจครืดคราด และเสียงตะกุยตะกายที่ประตูอุโบสถ ประมาณอย่างน้อย 3-4 ตัว ทันใดนั้นชายชราได้ผุดลุกขึ้นไปที่ประตูอุโบสถ แล้วสอดไม้ไผ่ที่สานนั้นออกไปตามรูช่องดาลอันแล้วอันเล่าจนหมด

หลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงของสัตว์ต่อสู้กันอย่างรุนแรง จนกระทั่งเสียงนั้นสงบนิ่งไป ครั้นรุ่งเช้าเมื่อเปิดประตูอุโบสถออกมา ปรากฏเห็นเสือโคร่ง 4 ตัว มีขนาด 6 ศอก นอนตายไส้ทะลักออกมา ชายชราได้บอกกับพระธุดงค์ว่า พระภิกษุทั้ง 4 ที่พบเมื่อเย็นวานล้วนเป็นเสือสมิงทั้งนั้น สังเกตได้ว่าที่คอยังมีผ้าเหลืองพันอยู่ทุกตัว และถ้าชายชราไม่มากับพระธุดงค์ด้วย เสือสมิงทั้ง 4 ตัว คงทำอันตรายแก่พระธุดงค์ไปแล้ว ส่วนที่ชายชราจักสานไม้ไผ่นั้น เป็นวัวธนู

วัวธนู สายหลวงพ่อน้อย คนฺธโชโต แห่งวัดศีรษะทอง จ.นครปฐม ในการสร้างนั้น จะต้องให้เสร็จในเวลาที่กำหนด ทำเฉพาะวันมาฆบูชาหรือในวันวิสาขบูชาเท่านั้น สิ่งที่เตรียมเอาไว้ ได้แก่ โครงลวด (ทอง เงิน นาก หรือทองแดง) แผ่นโลหะทำตะกรุด ครั่งพุทราเคี่ยวให้เหนียว เมื่อถึงฤกษ์ยามดี หลวงพ่อน้อยจะลงจารอักขระขอมในแผ่นโลหะม้วนเป็นตะกรุด จารด้วยคาถาหัวใจพระสีวลี หรือจารนะเสร็จแล้วจะส่งให้ผู้เข้าร่วมพิธีเอาครั่งที่เคี่ยวไว้พอกทับปั้นเป็นวัวธนู

 

วิธีบูชาวัวธนู ให้จุดเทียน 1 คู่ ธูป 4 ดอก น้อมรำลึกถึงครูบาอาจารย์แล้วให้ภาวนาคาถากำกับดังนี้ “เวทาสากุกุ ทาสาเวทา ยัสสะตะถะสาสา ทิกุกุทิสาสา กุตะกุภูตะภุโค โหตุเต ชัยยะมังคะลานิ” หรือบทอื่น ๆ ตามที่ได้รับสั่งสอนมา เสร็จแล้วเป็นอันใช้ได้

วัวธนู นั้นสร้างขึ้นจากวัตถุแต่ละชนิดได้ 3 ประเภท คือ

1. วัวทอง เป็นวัวธนูชั้นหนึ่งสร้างขึ้นด้วยโลหะอาถรรพ์ มีตะปูตรึงโลงศพ เหล็กขนันผีตายทั้งกลม งั่ง (ตัวยาซัดทองชนิดหนึ่ง) ทองแดงเถื่อน ดีบุก ทองขวานฟ้า เงินปากผี ทองยอดนพศูล นำมาหล่อหลอมเข้าด้วยกันแล้วลงอักขระตามตำราที่บังคับ หรือหล่อเป็นโคถึกหรือกระทิงโทน

2. วัวขี้ผึ้ง เป็นวัวธนูชั้น 2 ท่านให้ใช้ขี้ผึ้งปิดหน้าผีตายโหง ผีตายทั้งกลม ผสมด้วยผมผีตายพราย ผมผีตายลอยน้ำ ตานกกด ตาแร้ง ตาชะมด กำลังวัวเถลิง เผาไฟให้ไหม้บดเป็นผงผสมกับเถ้าฟอนเจ็ดป่าช้าแล้วนำไปคลุกกับขี้ผึ้งปั้น เป็นรูปวัวหรือควายก็ได้ เสกด้วยอาการ 32 บางตำราเพิ่มคนเลี้ยง 1 คน

3. วัวไม้ไผ่ เป็นวัวธนูชั้น 3 ใช้ชั่วคราวในเวลาฉุกเฉิน ให้ใช้ไม้ไผ่ที่ขึ้นคร่อมทาง กลั้นหายใจตัดด้วย นะโม ตัสสะ กะทีเดียวให้ขาดจากกัน นำมาสานเป็นรูปหัววัว คล้ายเฉลวปักหม้อยาแผนโบราณ

โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

ใส่ความเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า