หากเอ่ยถึง หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ ท่านเป็นชาวบ้านบางคลาน อำเภอบางคลาน จังหวัดพิจิตร เป็นบุตรคนที่ ๔ ของ นายอู๋-นางฟัก เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๐ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๕๑ มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น ๖ คนด้วยกันขณะ “หลวงพ่อเงิน” อายุได้ ๓ ขวบ “ตาช้าง” ซึ่งเป็นลุงของหลวงพ่อ ได้นำ “หลวงพ่อ” ไปอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ ต่อมาเป็น วันเดือนปีใดไม่ทราบ “หลวงพ่อเงิน” จึงทำการบรรพชาเป็นสามเณร ที่ วัดตองปุ (ปัจจุบันคือวัดชนะสงคราม) ขณะอายุได้ ๑๒ ขวบ
แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นอุปัชฌาย์ พออายุได้ ๒๐ ปี บิดา-มารดาและบรรดาญาติมีความประสงค์จะให้อุปสมบทแต่ “หลวงพ่อเงิน” ไม่ยอมเพราะเกรงว่า อายุของท่านจะไม่ครบบริบูรณ์จริง บรรดาญาติก็อนุโลมตามกระทั่งหลวงพ่ออายุได้ ๒๒ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๗๓ ได้กำหนดวันอุปสมบทไม่ทราบว่าอุปัชฌาย์ชื่ออะไรเช่นกันได้ฉายาว่า “พุทธโชติ” หลังจากอุปสมบทแล้วได้ศึกษาเล่าเรียน ธรรมะจนแตกฉาน แล้วทำการฝึกฝนวิปัสสนาจนมีญาณสมาธิแก่กล้า จึงมุ่งศึกษาพุทธาคมจาก “หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า” จนมีความชำนาญทางพุทธาคมมาก มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เล่าลือกันในบรรดาชาวบ้านมากมาย
ความศักดิ์สิทธิ์ของ “หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ” เป็นที่เลื่องลือมากเป็นผลให้ผู้คนต่างต้องการ “เครื่องรางของขลัง” จากท่านเป็นจำนวนมากเพราะท่านเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปทั้งใกล้ และไกล รวมทั้งชาวจีนก็นับถือเช่นกัน
วันหนึ่งมีชาวจีนผู้หนึ่งได้ไปกราบหลวงพ่อ เพื่อขอน้ำมนต์ไปอาบที่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ทั้งจะทำให้การประกอบอาชีพร่ำรวยยิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงตักน้ำใส่ถังไปหาหลวงพ่อพร้อมบอกความประสงค์แก่หลวงพ่อแล้วหลวงพ่อก็จุดเทียนไว้แล้วนั่งคุยกับชาวจีนผู้นั้น นัยว่าชาวจีนผู้นี้คุยถูกคอท่านมากจึงคุยกันเป็นเวลานาน ชาวจีนผู้นั้นเห็นว่านานมากแล้วจึงเอ่ยว่า
“เมื่อไหร่หลวงพ่อจะทำน้ำมนต์สักที”
หลวงพ่อก็ตอบว่า “ทำเสร็จแล้ว”
ชาวจีนผู้นั้นก็เถียงว่าไม่เห็นหลวงพ่อลงมือทำเลยเพราะเอาแต่คุยกันหลวงพ่อ ก็ยืนยันว่า “ทำเสร็จแล้ว” อยู่เช่นเดิมเป็นผลให้ชาวจีนผู้นั้นชักไม่พอใจ รีบลุกขึ้น “เทน้ำออกจากถัง” ที่อุตส่าห์หิ้วมาเพื่อทำน้ำมนต์แต่หลวงพ่อไม่ทำให้สักที แต่ปรากฏว่าแม้จะเทน้ำในถังเช่นไรน้ำก็ไม่ออกจากถังเลย ชาวจีนเห็นเช่นนั้นรีบก้มลงกราบขอขมา หลวงพ่อที่เอาแต่ยิ้มอย่างให้อภัยซึ่งเรื่องนี้เป็นที่เลื่องลือมากในหมู่ศิษย์น้อยใหญ่
ครั้งหนึ่งมีศิษย์วัดของหลวงพ่อคนหนึ่งชื่อ “ตานาค” เป็นผู้ที่ชอบนอนตื่นสายเสมอและหน้าที่ของ “ตานาค” ก็คือหาบสำรับของหลวงพ่อเวลาออกบิณฑบาต วันหนึ่งตานาคตื่นสายผิดปกติ หลวงพ่อจึงใช้กระสุนหนังสติ๊กยิงไปยังทิศตรงกันข้ามกับตานาค แต่ปรากฏว่ากระสุนนั้นไปถูกตานาคที่นอนอยู่ในกุฏิจนต้องร้องออกมา
นอกจากนี้อภินิหาร “ตะกรุด” ของ “หลวงพ่อเงิน” ก็มีผู้ประสบมาแล้วโดยครั้งหนึ่ง “หลวงพ่อเงิน” สัพยอกกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส “วัดท้ายน้ำ” ในสมัยนั้นคือ “หลวงพ่อเขียว” ว่าปีนี้หรือพรรษานี้ลองตะกรุดกันดูทีว่าใครจะดีกว่ากัน เมื่อถึงกำหนดเข้าพรรษา “หลวงพ่อเขียว” ได้ตั้งใจจะทำตะกรุดครบไตรมาสนี้ ๓ เดือนพร้อมทำการปลุกเสกอย่างดีพอถึงฤดูออกพรรษา “หลวงพ่อเขียว” ใช้ลูกศิษย์ไปนำเอาปืนมาทดลองยิงเพื่อพิสูจน์ว่าระหว่าง “หลวงพ่อเขียว” กับ “หลวงพ่อเงิน” วิชาของใครจะขลังกว่า
โดยทดลองตะกรุดของ “หลวงพ่อเขียว” ก่อนปรากฏว่ายิงไม่ออกถึง ๓ ครั้งจากนั้นจึงทำการทดลองของ “หลวงพ่อเงิน” บ้าง โดยท่านเรียกเด็กวัดให้ไปเอา “ฝาบาตรทองเหลือง” มาม้วนเป็นตะกรุดแล้วนำไปวางไว้พร้อมกับใช้ปืนยิงปรากฏว่าเสียงปืนดังสนั่น แต่ “ลูกปืน” กลับไม่ออกจากกระบอกปืนเลย “หลวงพ่อเงิน” จึงเอ่ยสัพยอกกับหลวงพ่อเขียวว่า “สู้ของข้าไม่ได้ของแกไม่ดัง อาจจะเป็นดินชื้นหรือแก๊ปเปียกน้ำก็ได้” แล้วท่านก็หัวเราะชอบใจนี่ก็เป็นการแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของ “หลวงพ่อเงิน” โดยแท้
“หลวงพ่อเงิน” มรณภาพด้วยโรคชราขณะอายุประมาณ ๑๑๑ ปี เมื่อวันศุกร์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม เวลา ๐๕.๐๐ น. ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ณ วัดวังตะโก ตำบลบางคลาน อำเภอบางคลาน จังหวัดพิจิตร คงทิ้งไว้แต่เรื่องราวอันเป็นปาฏิหาริย์มากมายครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นที่กล่าวขวัญกันสืบต่อมานานหลายสิบปีจนถึงปัจจุบันนี้
โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล