สวัสดีครับวันนี้ ทีมงานพาทุกท่านมาศึกษาเรื่องเล่าตำนานหลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า พระเถราจารย์ผู้เข้มขลังวิทยาคมแห่งเมืองชัยนาท มาติดตามกันได้เลย
หากกล่าวถึง หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า เรื่องการทำตะกรุดใต้น้ำของหลวงพ่อศุข บรรดาลูกศิษย์ใกล้ชิดต่างยืนยันว่า หลวงพ่อศุขท่านทำขึ้นเกือบทุกปี ยกเว้นบางปีที่ท่านไม่อยู่โดยไปที่วังกรมหลวงชุมพรฯ เรื่องการทำตะกรุดใต้น้ำสามเรื่องหลัง เป็นเรื่องที่ผู้เล่าเห็นมากับตาตัวเองทั้งสิ้น ข้าพเจ้าได้บันทึกไว้ตามคำบอกเล่า โดยมิได้ต่อเติมแต่อย่างใด น่าเสียดายที่ข้าพเจ้าไม่ได้สอบถามรายละเอียดทั้ง ๆ ที่โอกาสรู้จักกับผู้เล่า
ทั้งนี้เพราะในระยะนั้น ข้าพเจ้าไม่มีความสนใจในเรื่องอิทธิปาฎิหาริย์มากนัก จึงเพียงแต่บันทึกไว้คร่าว ๆ เพราะฉะนั้นบางเรื่องจึงขาดตกบกพร่องไปมาก ถ้าจะนำมาสรุปถึงวิธีลงตะกรุดของหลวงพ่อศุขจะได้ความดังนี้
การเลือกวัน จะทำในวันเพ็ญเดือนสิบสองเป็นประจำ ถ้าปี ใดวันนั้นตรงกับวันเสาร์ด้วยแล้วจะยิ่งดีขึ้น ในปีเช่นนั้น หลวงพ่อศุขท่านจะไม่ไปไหน แม้แต่วังกรมหลวงชุมพรฯ ก็ไม่ไป แต่ทั้งนี้ก็ไม่จำเป็นเสมอไป วันอื่นก็ทำได้ ดังตัวอย่างเรื่องทำตะกรุดใต้น้ำให้เจ้าเมืองชัยนาท ซึ่งทำในเดือนสิบสองข้างแรมเป็นต้น
การเตรียมการ จะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า คือหาไม้ไผ่มาปักลงไปในนอกและเหนือแพโบสถ์น้ำหน้าวัด และจะต้องเลือกตรงที่กระแสน้ำไม่ไหลแรงเกินไป น้ำต้องลึกพอควร (ประมาณ ๘ ศอก) ไม่ทำใกล้ตลิ่งหรือน้ำนิ่ง ปลายหลักไม้ไผ่จะต้องไม่ตัดชิดข้อ ต้องตัดให้พอดีที่จะใช้ปักธูปได้ และหลักจะต้องไม่ปักชิดแพโบสถ์น้ำจนเกินไป น่าเสียดายที่ไม่ได้ถามว่า หลวงพ่อศุขเป็นผู้จุดธูปเอาไปปักเอง หรือมอบให้ผู้อื่นไปปัก
หลักไม้ไผ่ที่สองจะปักห่างจากหลักแรกประมาณ ๒ วา ตรงตามกระแสแนวน้ำไหลผ่าน ใช้เป็นที่สำหรับผู้เก็บตะกรุดจะได้ใช้เกาะพยุงตัวไว้ ระยะ ๒ วา นี้คงเป็นระยะพอดีที่ตะกรุดจะลอยน้ำขึ้นมาให้คนเก็บ ๆ ได้สะดวก
ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ขณะท่านลงน้ำทำพิธี จะมีสบงและอังสะเท่านั้น ไม่ได้ครองจีวร และเมื่อขึ้นจากน้ำตัวจะเปียก เพราะมีผู้เห็นกรมหลวงชุมพรฯ ห่มผ้าให้ท่านกันหนาว นอกจากนี้วัสดุที่ทำ ถ้าเป็นตะกั่ว ท่านห้ามใช้ตะกั่วลูกแหมาทำตะกรุด แม้แต่พระพิมพ์สี่เหลี่ยมของท่าน ก็ห้ามไม่ให้ใช่ตะกั่วลูกแหทำ
คราวนี้มาพิจารณาเรื่องของคุณชัยมงคล อุดมทรัพย์ เมื่อสร้างตะกรุดสามกษัตริย์ ทำในฤดูน้ำ ๆ เต็มตลิ่ง น่าจะตรงกับวันเพ็ญ เดือนสิบสองตามตำราจะแปลกกันก็คือจุดเทียนและไม่จุดเทียนและต่างกันอย่างมากก็คือ เมื่อหลวงพ่อศุขขึ้นจากน้ำ สบง จีวร ไม่เปียกน้ำ และเทียนไม่ดับ ข้าพเจ้าเคยได้ยินบางท่านพูดว่า ตัวท่านเปียกน้ำแน่ ถึงกับบางครั้งจัดเตรียมเตาอั้งโล่ไว้ให้ความอบอุ่นแก่ท่าน
เรื่องตะกรุดใต้น้ำนี้ ทราบเรื่องเพิ่มเติมจากนายเนตร แพ่งกลิ่น ว่า ขนาดของตะกรุดจะยาวประมาณ ๔ ซม. ผู้เล่าซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการของหลวงพ่อศุข เคยมีอยู่ ๔ ดอก
เวลาทำหลวงพ่อศุขจะหย่อนตัวลงไปในน้ำนอกแพ ไม่ได้เกาะหลักลงไป เมื่อทำเสร็จแล้วจะปล่อยเทียนลอยขึ้นมา เทียนที่เหลือจะสั้นลงไปกว่าเดิม นายเนตร แพ่งกลิ่น เล่าว่าขณะลงจารตะกรุด เทียนไม่ดับต่อเมื่อทำเสร็จแล้วจึงดับเทียนแล้วปล่อยลอยขึ้นมา
เมื่อทำเสร็จแล้ว หลวงพ่อศุขจะเดินขึ้นตลิ่งหน้าวัด ไม่ได้ขึ้นมาตามหลักที่ปัก บางครั้งอาจระเบิดน้ำไปดูจรเข้ต่อ แล้วเดินขึ้นทางหลังวัดเลยก็มี
ผู้บันทึก นายแพทย์สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย หนังสือประวัติพระครูวิมลคุณากร (ศุข)
โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล