สองปราชญ์แลกคนละหมัด วิวาทะโต้เถียงในประวัติศาสตร์ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ พุทธทาสภิกขุ
หากกล่าวถึง พุทธทาสภิกขุ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ ณ หอประชุมคุรุสภา สองปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสังคมไทยในสมัยนั้นคือ “พุทธทาสภิกขุ” กับ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันเป็น “วิวาทะ” กันอย่างตรงไปตรงมาหนึ่งในประเด็นวิวาทะที่สำคัญในวันนั้นก็คือเรื่อง “จิตว่าง” ซึ่งการถกเถียงกันระหว่างปราชญ์ทั้งสองท่านได้ให้ความสนุกและความรู้แก่ผู้ฟัง ทั้งยังช่วยกระตุ้นความคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับคำสอนของพุทธศาสนาอีกด้วย ดังความตอนหนึ่งที่มีบันทึกไว้ต่อไปนี้
พุทธทาส : อาตมามีระบบปฏิบัติอันหนึ่งซึ่งเตรียมขึ้นสำหรับคนทั่วไปจะเข้าใจได้ ปฏิบัติได้ … ระบบนี้มีหัวข้อปฏิบัติว่า “ให้ทำงานด้วยจิตว่าง” ที่เรียกว่า “ทำงานด้วยจิตว่าง” นั้นก็คือ เราทำงานตามหน้าที่ของเราทุกอย่างด้วยจิตที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่มีความรู้สึกที่จะยึดมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ว่าเป็น “ตัวเรา” หรือ “ของเรา” เพราะตัวเรานั้นมันไม่ใช่เป็นตัวเราจริง ๆ มันเป็นเพียงมายา
แต่ในขณะเดียวกัน จิตว่างนี้ก็เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะและสติปัญญา … สติสัมปชัญญะทำให้รอบคอบในการกระทำ สติปัญญาทำให้ฉลาดในการกระทำ นี่เป็นตัวสำคัญยิ่งของหลักปฏิบัติ …อย่างนี้เรียกว่า “จิตว่าง” แต่คนส่วนมากไม่เข้าใจอย่างนั้น เขาเข้าใจว่า “จิตว่าง” ก็คือจิตที่ไม่มีอะไร เหมือนอย่างท่อนไม้บ้าง หรือว่าทำไปเหมือนอย่างคนละเมอ อย่างนั้นมันไม่ใช่ เมื่อจิตว่างจากความรู้สึกเห็นแก่ตัวทุกชนิดแล้ว ไม่ว่าจะทำการงานอะไร งานก็จะดี
คึกฤทธิ์ : ที่ใต้เท้าว่า “ทำงานด้วยจิตว่าง” นั้น ฟังเหมือนอย่างว่าใต้เท้าพยายามเทน้ำในมหาสมุทรลงไปใส่ขันใบเล็ก ๆ มันใส่ไม่ลง มันล้นไปหมด สัจธรรมที่ใต้เท้าประกาศนั้นมันเป็นเรื่องกว้างขวางใหญ่โตเหลือเกิน คือมันเป็นสภาพจิตของพระอรหันต์ ชาวบ้านสามัญเขาทำมาหากินกันตามปกติ จะนำธรรมะที่ใหญ่โตนั้นใส่ลงไปในถ้วยแก้วใบเล็ก ๆ ใส่ไปเท่าไรมันก็ไม่ลง
ที่ใต้เท้ากล่าวมานั้นเป็นกิจกรรมของพระอรหันต์ ของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าจะให้ฆราวาสทำเหมือนกัน กระผมเห็นว่าจะไปไม่ไหว การทำงานด้วยจิตว่างจากความเห็นแก่ตัวนั้น กระผมยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร เพราะถ้าทำงานแล้วไม่ถือว่างานนั้นเป็นงาน ไม่ถือว่าตัวเราเป็นผู้รับประโยชน์ของงาน ไม่ถือว่าผู้อื่นเป็นผู้ได้รับประโยชน์ของงาน หรือไม่ถือว่าประเทศชาติเป็นผู้ได้รับประโยชน์ของงานแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะทำไปทำไมเหมือนกัน … เราควรจะคิดทำลายมันเสียด้วยซ้ำ
ถ้าจิตว่างจากความเห็นแก่ตัวแล้ว คนก็ไม่ทำงาน ถ้ากระผมทำตัวให้ปราศจากอุปาทานได้จริงแล้วก็จะไปขอบรรพชากับใต้เท้า ไม่มานั่งทำงานให้มันเสียเวลาอยู่หรอกครับ … การทำงานมันเป็นสภาพของการยึดมั่น ถ้าใครยังละอุปาทานไม่ถึงขนาดก็ยังต้องทำงานกันต่อไป ถ้าจะให้ทำงานด้วยจิตว่าง กระผมก็ยังมองไม่เห็นทาง นี่ผมอาจจะใจคอคับแคบหรือดวงตายังไม่เห็นธรรม คือยังนึกไม่ออกจริง ๆ
ส่วนเรื่องสติสัมปชัญญะหรือสติปัญญาก็ดี กระผมคิดว่า สตินั้นก็หมายเพียงการระลึกได้ว่าของทุกอย่างไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน จับอะไรขึ้นมาก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ของผมทั้งนั้น ถ้ามีสติอย่างนั้นแล้วก็ทำงานไม่ได้อีก … นึกจะไปค้าไปขายอะไรก็ไม่อยากไป … นอนดีกว่า การพูดของฆราวาสกับพระมันเป็นคนละโลกกันอย่างนั้น กระผมก็อยากขอประทานกราบเรียนถามความรู้ต่อไปว่าจะให้ทำอย่างไรกันแน่
พุทธทาส : ที่ว่าให้ “ทำงานด้วยจิตว่าง” นั้นหมายความว่า ในขณะที่ทำนั้นต้องมีจิตว่าง ไม่เห็นแก่ตัวจัด วิธีปฏิบัติเฉพาะหน้าก็มีอยู่ว่า ในขณะที่ลงมือทำนั้นอย่าได้มีจิตวุ่น อย่าได้คิดด้วยจิตที่หมกมุ่นอยู่ด้วยความรู้สึกเห็นแก่ตัวจัดหรือว่าเป็นตัวเราหรือของเรา เพราะมันจะมากไปบ้าง น้อยไปบ้าง ผิดความจริงไปหมด ถ้าจะคิดว่า เราจะทำอย่างไร เรามีฐานะอย่างนี้ มีสภาวะอย่างนี้ จะต้องทำอะไรเป็นประจำวัน มีอาชีพอย่างไร หรือมีประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร อย่างนี้คิดไปได้ และก็ยังกล่าวได้ว่ามีจิตว่างอยู่เหมือนกัน
ความสำคัญอยู่ที่ว่า ขณะลงมือทำก็ให้เหลือแต่สติปัญญาและสติสัมปชัญญะอย่างที่กล่าว ควบคุมความรู้สึกไว้เสมอ อย่าเผลอตัว มีสติอยู่เสมอว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตนหรือของตน แล้วทำงานด้วยสตินั้น ในขณะนั้นจิตจะเฉลียวฉลาดที่สุด ว่องไวที่สุด อาตมาจึงว่าน่าจะลองนำไปคิดพิจารณาดูและลองพยายามทำดู … ให้การพยายามนั้นแหละเป็นเครื่องวัดตัดสินว่าจะทำได้หรือไม่ได้เพียงใด
คำว่า “ความว่าง” (สุญญตา) ของพุทธศาสนานี้ มันมีความหมายเฉพาะ มันมีความหมายพิเศษของมันเอง พอมาผิดยุคผิดสมัยกันก็เข้าใจยาก อาตมาจึงได้พยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ภาษาไทยของยุคปัจจุบันหรือภาษาไทยง่าย ๆ ฉะนั้นอย่าได้ยึดถือมั่นในคำนั้นคำนี้นัก … หรือถ้าอาจารย์คึกฤทธิ์เห็นว่าควรจะมีข้อแม้อย่างไรหรือควรอภิปรายอย่างไรก็ขอให้กรุณาอีกครั้ง
คึกฤทธิ์ : กระผมเข้าใจตามที่ท่านได้อธิบายมา … คนที่ “ว่าง” อย่างพระอรหันต์แล้ว ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างกระผม ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างคนส่วนมาก อย่างนี้เรียกว่า “ว่าง” แต่ถ้าจะให้คนอย่างกระผมไปทำงานด้วย “จิตว่าง” กระผมยังมองไม่เห็น เพราะลักษณะของงานมันขัดต่อการมีจิตว่าง ภาวะของผมมันว่างไม่ได้ ถ้าว่างไปแล้วมันก็ไม่เป็นกระผม ถ้าท่านบอกว่าให้กระผมไปบวชแล้วมันจะว่าง…กระผมเชื่อ เพราะกระผมก็ไม่ยึดอะไรทั้งนั้น แต่การทำงานด้วยจิตว่างนั้น กระผมก็อยากจะเรียนถามเหมือนกันว่าท่านหมายความว่ายังไง
ถ้าท่านบอกว่า ทำงานด้วยจิตว่างแล้ว งานทางโลกนั้นจะดี กระผมไม่เชื่อ … อย่างว่าเป็นทหารไปรบกับเขา แล้วรบด้วยจิตว่าง ยิงปืนด้วยจิตว่าง แล้วมันจะเป็นทหารที่ดี … พูดอย่างไร ๆ กระผมก็ไม่เชื่อ แต่ถ้าใต้เท้าบอกว่า ทำงานอยู่ในโลกก็อยู่ในโลกเถิด ถ้าทำงานด้วยจิตว่าง อย่ายึดมั่นอะไร แล้วงานจะดีหรือไม่ดี หรือถึงจะเกิดผลร้าย เราก็ไม่เป็นทุกข์ … ถ้าอย่างนั้นกระผมเชื่อ
ที่ท่านพูดมาว่า จิตว่างแล้วงานจะประเสริฐ การงานจะรุ่งเรือง อย่างนั้นกระผมไม่เชื่อ เพราะงานของโลกมันขัดกันกับเรื่องจิตว่างหรือเรื่องการพ้นทุกข์ ความสุขของโลกมันเป็นความทุกข์ในทางธรรม ความสำเร็จของงานมีความหมายในทางโลก ถ้าจิตว่างแล้วจะนำความสำเร็จทางธรรมนั้นก็ถูก แต่จะเอาพร้อมกันทั้งสองอย่างนั้นไม่ได้ สำเร็จทางธรรมด้วยจิตว่างก็ต้องเสียทางโลก … ไม่อย่างนั้นคนจะไปบวชกันทำไม
พุทธทาส : หมายความว่า ฆราวาสนี้จะไม่พยายามทำให้ “จิตว่าง” อย่างนั้นหรือ
คึกฤทธิ์ : ทำได้…คือ “ว่างจากกิเลส” … กระผมเชื่อ
พุทธทาส : ฆราวาสควรจะพยายามหรือไม่
คึกฤทธิ์ : เรื่องไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้น…กระผมเชื่อ คือว่าฆราวาสควรจะศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าให้รู้ แต่ขณะเดียวกันก็ควรจะรู้ด้วยว่า แม้ในขณะที่ทำไป ถ้ามันจำเป็นต้องยึด มันก็ต้องยึด เพราะเรายังเป็นฆราวาส ถ้าปล่อยหมดก็อย่าเป็นฆราวาส
พุทธทาส : อาตมาต้องการให้ฆราวาสทำงานด้วยความมีทุกข์น้อยและมีผลสำเร็จเต็มที่ จะมีวิธีอย่างไร … จะทำด้วย “จิตว่าง” หรือ “จิตวุ่น” ดี
คึกฤทธิ์ : กระผมเห็นว่า ถ้าจะเอาผลสำเร็จทางโลกแล้ว มันก็ต้องซื้อผลสำเร็จนั้นด้วยความทุกข์ จะเอาทั้งสองอย่างไม่ได้หรอก … จะเอาเนยไปทาขนมปังสองหน้าไม่ได้ ไม่มีใครเขาใส่บาตรอย่างนั้น … กระผมขอสอนพระสักวันเถิดครับ! ไม่มีทางทำได้ แต่ถ้าเผื่อว่าจะให้สิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้ว ให้ว่างจริงโดยไม่มีทุกข์แล้ว ต้องสละความสำเร็จทางโลก อย่างนั้นกระผมเชื่อ … เมื่อเป็นฆราวาส มันก็ต้องสุขบ้างทุกข์บ้าง มันไม่ว่าง
พุทธทาส : แล้วจะมีวิธีทำให้ทุกข์น้อยลงได้อย่างไร
คึกฤทธิ์ : ก็อย่างที่กระผมพูดอยู่นั่นแหละครับ คือ ทุกอย่างมันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน หรือไม่ใช่ของตัว ไม่ใช่ของตน แต่ในขณะที่ทำงานนั้นมันต้องนึกถึงงาน มันไม่ “ว่าง” หรอก มันก็คิดว่าจะทำเพื่อตัวตนอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามันเกิดผิดพลาดเสียหายขึ้นมาแล้ว ตอนนี้แหละ…ธรรมะของใต้เท้าจะนำเข้ามาช่วยได้ ถ้าถือว่ามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอะไร ของเรามันเสียไปแล้ว อย่างนี้มันก็พอนึกได้ มันพอปลอบใจได้เหมือนกัน
พุทธทาส : อาตมาบอกว่าให้พยายามทุกอย่างให้เข้าใกล้ “ความว่าง” นี้มากขึ้น ๆ แม้แต่ในการทำงาน การกินอาหาร การมีลมหายใจอยู่ ก็ให้ใช้อุบายที่ประณีตแยบคายที่ให้เข้าใกล้ “ความว่าง” นี้มากขึ้น ๆ แม้แต่ในเพศฆราวาส … ความเห็นของเราแตกต่างกันนิดเดียวเท่านั้น
คึกฤทธิ์ : มันแตกต่างกันเยอะครับ … คือถ้ายิ่ง “ว่าง” มากขึ้น ความสำเร็จทางโลกมันต้องน้อยลงทุกที ๆ
พุทธทาส : ถ้าอย่างนั้นมันก็ยังไม่ใช่ “ความว่าง” (สุญญตา) ตามความหมายของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนพวกฆราวาสไว้
คึกฤทธิ์ : เป็นมหาเศรษฐีด้วย เป็นสัตบุรุษด้วย อย่างนั้นไม่สำเร็จหรอกครับ … เป็นมหาเศรษฐีทุกข์มากและ “ว่าง” ไม่ได้
พุทธทาส : เป็นมหาเศรษฐีที่เป็นพระอริยบุคคล…อย่างนี้จะมีได้ไหม
คึกฤทธิ์ : ถ้าได้รับมรดกมา…เป็นพระอริยบุคคลได้ แต่ถ้าหาเอาเอง…อย่างนั้นเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ เพราะถ้าเป็นพระอริยบุคคลก็ไม่คิดเป็นเศรษฐีเสียแล้ว
พุทธทาส : เป็นพระอริยบุคคลชั้นหนึ่งชั้นใดแล้วจะเป็นเศรษฐีด้วย…อย่างนี้ไม่ได้หรือ
คึกฤทธิ์ : กระผมไม่เชื่อครับ… ไม่ต้องเป็นพระอริยบุคคลหรอกครับ… คนขนาด “ว่าง” นิด ๆ หน่อย ๆ อย่างกระผมเห็นว่า สมบัติไม่เที่ยง เงินก็ไม่เที่ยง อะไรมันก็ไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน กระผมก็ยังไม่เป็นเศรษฐี ทุกวันนี้ผมก็หากินพอใช้ ความจริงแล้วผมมีหลักการของผมว่า ผมไม่หาเงินล่วงหน้า ผมอยากได้อะไรก็ไปหาเงินมาซื้อ ซื้อแล้วก็เลิกกัน ผมไม่หาต่อ … ถึงได้มีเวลาว่างมานั่งคุยกับท่านได้ ถ้าตั้งหน้าตั้งตาจะหาเงินอย่างเดียวเพราะอยากเป็นเศรษฐีแล้ว วันนี้ผมไม่มา… ผมไม่ว่าง
พุทธทาส : คนที่เป็นเศรษฐีแล้ว…รู้สึกว่ามีเพียงพอแล้ว จะไปสนใจธรรมะเรื่องของ “ความว่าง” นั้นได้ไหม
คึกฤทธิ์ : ถ้าอ้างว่าสนใจละก็ได้ … แต่ใครลองไปแตะเงินเข้าสิครับ…เกิดไม่ว่างขึ้นเชียว … กระผมไม่เชื่อหรอกครับ
ที่มาข้อมูล หนังสือวิวาทะ
เป็นยังไงกันบ้างกับหลากหลายเรื่องราวที่เพจเรื่องเล่าชาวสยามได้นำมาเล่าต่อของตำนานพุทธทาสภิกขุ บทความนี้นำมาเผยแพร่เพื่อศึกษาเผยแผ่บารมีเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติบุคคลคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านผู้มีพระคุณ ทั้งนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล