เปิดเส้นทางสู่ธรรมะ “หลวงพ่อสำเนียง” พระโอรสกรมหลวงชุมพรฯ เกจิเมืองนครปฐม

หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร วัดเวฬุวนาราม อ.บางเลน จ.นครปฐม พระเกจิดังแห่งเมืองนครปฐม ท่านศึกษาวิชาสายหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท หลวงพ่อสำเนียง ประสูติเมื่อวันที่ ๕ ต.ค. ๒๔๖๐ ตรงกับวันศุกร์ ปีมะเส็ง แรม ๔ ค่ำ เป็นพระโอรสในพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และหม่อมทองนุ่น ที่วังไชยา

ก่อนที่หลวงพ่อสำเนียงจะถือกำเนิดมาดูโลกนั้น นายเอม อยู่สถาพรเป็นพระสหายของเสด็จเตี่ย ได้เล่าให้หลวงพ่อฟังว่า เมื่อตั้งครรภ์ได้ ๒ เดือน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการจากรัชกาลที่ ๖ ให้ไปซื้อเรือพระร่วงที่ประเทศอังกฤษ จึงนำหม่อมทองนุ่น ไปฝากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ครั้นท่านประสูติ หลวงปู่ศุข จึงตั้งนามว่า “สำเนียง” แปลว่า “เสียง” เมื่อเสด็จพ่อทรงทราบจึงพระราชทานนามว่า “หม่อมเจ้าสถาพร อาภากร”

หลังประสูติได้ ๗ วัน หม่อมทองนุ่นเสียชีวิต จนมีพระชันษาได้ ๖ ปี เสด็จพ่อก็สิ้นพระชนม์ ในวังเริ่มระส่ำระสาย นายเอมพระสหายของเสด็จพ่อนำไปฝากไว้กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรองค์อรรคยุพา พระขนิษฐาของเสด็จพ่อ ส่งให้ไปศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก จบมัธยมปีที่ ๘ ต่อมาศึกษาโรงเรียนนายร้อย จปร. เข้ารับราชการทหารที่กรมสื่อสารทหารบก ยศร้อยเอกดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองต่างประเทศในหน้าที่แปลข่าวสารต่างประเทศ และได้ร่วมรบในสงครามอินโดจีน สงครามมหาเอเชียบูรพา พอกลับจากศึกสงคราม ก็ถูกมรสุมร้ายทางการเมืองกระทำ ต้องถูกจองจำพร้อมกับจอมพลป.พิบูลสงคราม หลวงเสรี หลวงวิจิตรวาทการ และคนอื่นๆ ในข้อหาอาชญากรสงคราม

ปู่เอม อยู่สถาพร

เมื่อได้รับการปลดปล่อยหลวงเสรีได้ไปบวชที่วัดเบญจมบพิตร ส่วนหลวงพ่อสำเนียงท่านไปบวชอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี ท่านตั้งใจบวชเพียง ๑๕ วัน แต่พอบวชได้ ๓ วัน มีเหตุการณ์การเมืองขึ้นมาอีก จึงทำให้ท่านเปลี่ยนความตั้งใจ เหตุการณ์บ้านเมืองกำลังยุ่งเหยิง จอมพลป.พิบูลสงคราม ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง แต่ต้องการให้หลวงพ่อสำเนียงกลับไปรับราชการอีก ทว่าท่านไม่ยอมสึก ทั้งได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่าจะขอยึดเอาผ้ากาสาวพัสตร์หุ้มห่อร่างกายจนกระทั่งตาย

ดังนั้นท่านจึงมุ่งสู่ชนบท ได้เห็นวัดแหลมชะอุย คือ “วัดเวฬุวนาราม” ในปัจจุบัน ชื่อเสียงของหลวงพ่อสำเนียงอีกด้าน คือ การรักษาโรคและยังเป็นพระนักพัฒนา ได้พัฒนาวัดเวฬุวนาราม และสร้างโรงเรียนสถาพรวิทยาให้เด็กในชุมชนได้มีโรงเรียนศึกษา ตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้า ต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๒๓ รับโล่ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติดีเด่นเป็นพิเศษของมูลนิธิสรรพวรรณิต จากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปี๒๕๒๗ รับโล่สดุดี “นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นประจำปี” จากมูลนิธิศาสตราจารย์ ปกรณ์ อังศุสิงห์ และต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๒๘ สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศสดุดีให้พระครูสถาพรพุทธมนต์ เป็นพระดีเด่นประจำชาติ และปูชนียบุคคลที่นั่งอยู่ในหัวใจคนทั้งชาติ

วัตถุมงคลยอดนิยมของหลวงพ่อสำเนียง ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทเหรียญ ซึ่งมีอยู่หลายรุ่น ส่วนประเภทเนื้อผง คือ “พระสมเด็จนะฤๅชา” ที่อัดแน่นด้วยมวล สารศักดิ์สิทธิ์ และผ่านการปลุกเสกถึง ๒ ครั้ง โดยร่วมในพิธีพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ.๒๕๐๐ ที่มีสุดยอดคณาจารย์ ๑๐๘ รูปอธิษฐานจิต

ครั้งแรกได้ผ่านการอธิษฐานจิตปลุกเสกเมื่อตอนจัดสร้างเสร็จ โดยหลวงพ่อสำเนียง เป็นประธานในพิธี ครั้งที่ ๒ หลวงพ่อสำเนียง นำไปร่วมปลุกเสกในพิธีพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ.๒๕๐๐ โดยมียอดพระเกจิอาจารย์แห่งยุคร่วมปลุกเสก อาทิ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ, หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา, หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม เป็นต้น รวมทั้งตัวหลวงพ่อสำเนียงด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า