“หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม” เหนียวสุดๆ ลงกระหม่อมด้วยขมิ้นชันเพียงอักขระตัวเดียวติดถึงลูกชายในท้อง

หากกล่าวถึง หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ท่านเป็นเกจิอาจารย์รุ่นสงครามอินโดจีน อยู่ในคำขวัญรุ่นนั้นว่า จาด จง คง อี๋ หมายถึง หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ และมีท่านเพียงองค์เดียว ที่เหรียญของท่าน สามารถเบียดเสียดขึ้นไปอยู่ในเบญจภาคีเหรียญได้

การลงกระหม่อมด้วยขมิ้นชันของท่าน แม้ในสายท่านยังถกเถียงกันไม่จบ ว่าท่านใช้วิชาของใครกันแน่ เนื่องจากหลวงพ่อคง ตามประวัติท่านไปเรียนวิชา ลงกระหม่อมจากครูบาอาจารย์สองท่าน ว่ากันว่า หลวงพ่อคง ท่านไปเรียนวิชาลงกระหม่อม จากพระพุทธโฆษาจารย์(ฤทธิ์) วัดอรุณฯก่อน ตอนหลังจึงมาเรียนวิชาลงกระหม่อม หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง เกจิใหญ่แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง ท่านยังเป็นอุปัชฌาย์ หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง เกจิอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่มีชื่อมากด้านลงกระหม่อม หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านจะลงด้วยเหล็กจารโดยไม่จุ่มน้ำมันหรือสิ่งอื่น ยันต์ที่ท่านลงจะมีอักขระหลายตัว ในสายท่านจะเรียกว่ายันต์ครู คนที่ได้ลงไป ถ้าลูกคนโตเป็นผู้ชาย จะมียันต์ติดกระหม่อมมาตอนเกิดเป็นรอยแดงๆ อยู่สักพักไม่กี่เดือนก็จะจางหายไป

ส่วนหลวงพ่อคง ท่านจะลงด้วยขมิ้นชัน โดยนำขมิ้นชันมาเหลาให้แหลม และจุ่มในน้ำมนต์เพื่อให้น้ำขมิ้นออกเยอะๆ จึงนำมาเขียนลงบนกระหม่อมของลูกศิษย์ หลวงพ่อคง ท่านจะลงด้วยตัวเฑาะว์ตัวเดียว ว่ากันว่า ใครได้ลงกระหม่อมกับท่านจะเหนียวนัก และถ้าคนนั้นมีลูกคนแรกเป็นผู้ชาย ยันต์จะติดมาที่กระหม่อมเด็กด้วย ปัจจุบัน พระมหาสุรศักดิ์ วัดประดู่ เขาว่าท่านมีลงกระหม่อมแบบนี้ด้วย แต่จะขลังเหมือนหลวงพ่อคงหรือไม่ ต้องไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง

ในส่วนของพุทธคุณของเหรียญหลวงพ่อคงนั้น มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า มีพุทธคุณด้านคงกระพัน โดยเฉพาะเหรียญรุ่นปาดตาล แม้ว่าจะสร้างหลังจากมรณภาพแล้วก็ยังมีความคงกระพันอยู่ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า มีคนถูกแทงด้วยมีดปาดตาล ซึ่งถือว่าเป็นมีดที่คมมากแต่ไม่เข้า จากนั้นก็ร่ำลือกันต่อๆ มา ในที่สุดก็เรียกเหรียญรุ่นดังกล่าวว่า เหรียญรุ่นปาดตาล

บั้นปลายชีวิต หลวงพ่อคง ธมฺมโชโต ท่านได้อาพาธด้วยโรคชรา เนื่องจากว่า ท่านมีงานอยู่หลายอย่างต้องทำเพราะเป็นกิจของสงฆ์ ทั้งผลงานการสร้างพระพุทธรูป การสร้างวัตถุมงคล จึงทำให้ท่านไม่ได้มีเวลาพักผ่อนเลย จนภายหลังเป็นเจ้าอาวาสบริหารวัดรับภาระมากแล้ว ในเดือน 4 ของทุก ๆ ปี ท่านจะไปปักกลดในป่าช้าข้างวัดเป็นเวลาราว 1 เดือน เรียกกันว่า “รุกขมูลข้างวัด” โดยถือว่าเป็นการชำระจิตใจให้สะอาดหลังจากมายุ่งกับเรื่องทางโลกเกือบทั้งปี วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ขณะท่านนั่งร้านเพื่อตกแต่งพระขนงพระประธานองค์ใหม่ เมื่อท่านสวมพระเกตุพระประธานเสร็จ ท่านก็เกิดเป็นลม แต่ก็มีสติดี เอามือประสานในท่านั่งสมาธิจนหมดลมถึงแก่มรณภาพในอาการอันสงบสมกับเป็นผู้ฝึกจิตมาดีแล้ว ศิษย์เห็นท่านนั่งอยู่นานจึงประคองร่างลงมาจากนั่งร้าน จึงรู้ว่าท่านมรณภาพแล้ว รวมอายุได้ 78 ปี 58 พรรษา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า