‘หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง’ เชี่ยวชาญอิติปิโส ว่าทะแยงก็ได้ ถอยหลังก็ได้ “หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง”จนโดนเจ้าคณะสอบสวน แต่ไร้ความผิดด้วยมีอิทธิฤทธิ์จริงๆ
หลวงพ่อแช่มท่านเป็นเกจิอาจารย์รูปหนึ่งของจังหวัดนครปฐม เป็นพระผู้ทรงอภิญญามีญาณทัศนะหยั่งรู้วาระจิต อีกทั้งเรืองวิทยาคม มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากมายตามคำบอกเล่า เมื่อเด็กท่านออกจะเกเร แต่คำว่าเกเรของคนบ้านนอกสมัยนั้น ไม่ถึงขั้น “อันธพาล”อย่างสมัยนี้ ท่านไม่เกเรในทำนองตีหัวหมา ด่าแม่เจ็ก ลักเล็กขโมยน้อยหรือปล้นสะดมใคร แต่ท่านเป็นคนจริงไม่กลัวคน ไม่ว่าจะรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือโตกว่าจะชกค่อยตีกันท่านไม่กลัวสู้ไม่ถอย เที่ยวเก่งดื่มเหล้าเป็นตั้งแต่เด็กรุ่นร่างกายแข็งแรง
แต่ถึงแม้ท่านจะเที่ยวเก่งสำมะเลเทเมาบ้าง ถ้าพูดถึงการทำงาน (บิดา – มารดาอาชีพทำนา)ท่านก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของพ่อแม่ ได้เป็นอย่างดี ต่อมาโยมพ่อเห็นว่าจะเอาไว้ไม่อยู่กลัวเสียคน เลยจับไปบวชเป็นเณรอยู่กับพระอาจารย์มีชื่อในขณะนั้นในขณะเป็นเณรได้เล่าเรียนหนังสือไทย – ขอม และเรียนพระธรรมจนแตกฉานเปลี่ยนนิสัยเดิมหมดมาสนใจรักในทางนี้มาก
ตอนที่ท่านมีอายุอยู่ในวัยรุ่น ได้มีความสนใจในวิชาเวทมนต์คาถาเป็นอย่างยิ่งเมื่อพบปะกับคนสูงอายุจะต้องคุยและถามถึงเรื่องเหล่านี้ อยู่เสมอ ๆ ต่อมาได้ทำการอุปสมบทที่วัดพระประโทนเจดีย์โดยมี พระครูอุตรการบดี (หลวงพ่อทา)วัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสมถกิตติคุณ (กลั่น) วัดพระประโทน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ชุ่ม ซึ่งเป็นน้าชายของท่าน ไม่ใช่น้องดังที่บางคนกล่าวไว้(ซึ่งต่อมาได้รับสมณศักดิ์พระครูสมถกิตติคุณ
และเป็นเจ้าอาวาสวัดพระประโทนต่อจากพระอาจารย์กลั่น)เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และจำพรรษาอยู่ที่วัดเป็นเวลา ๘ พรรษา
ระหว่างที่อยู่ในพรรษาได้พยายามพากเพียรเรียนวิชาสมถกรรมฐานและวิปัสนากรรมฐานอย่างคร่ำเคร่ง พอออกพรรษาทุกปีท่านจึงเที่ยวธุดงค์ไป เพื่อเล่าเรียนวิชาจากพระอาจารย์ ผู้มีความรู้ในทางไสยศาสตร์ เช่น จากอาจารย์ชาวเขมรบ้าง จากอาจารย์ชาวกะเหรี่ยงบ้างและชอบเดินไปต่างบ้านต่างเมือง อย่าง ลาว เขมร พม่า จนทั่ว มีหลักฐานอยู่ คือ ตำราของหลวงพ่อท่านเขียนเป็นตัวหนังสือขอมและหนังสือพม่าหลังจากนั้นหลวงพ่อได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสามง่าม ๑ พรรษา แล้วจึงมาอยู่ที่วัดตาก้อง ซึ่งเวลานั้นมีเจ้าอาวาสคือพระอธิการเกริ่น พอตำแหน่งต่อมาคือ สมภารกร่าย เป็นคนบ้านตาก้อง
หลวงพ่อแช่มเองมีฐานะเป็นเพียงพระลูกวัดธรรมดาและตัวท่านก็รักความสันโดษไม่ยินดีในลาภยศสมณศักดิ์ใดใด ชอบความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ สมถะไม่สะสมทรัพย์สมบัติและไม่พิถีพิถัน นุ่งห่มแต่จีวรเก่าๆ กุฏิหรือที่พักเป็นกระต๊อบหลังคามุงจากไม่ปูพื้นและปราศจากฝากั้นปลูกอยู่ข้างกำแพงพระอุโบสถหลังเก่าที่สำหรับใช้จำวัดเป็นไม้กระดานกว้างศอกเศษเพียงแผ่นเดียวตั้งอยู่บนพื้นดินมีขอนไม้รองรับและไม่มีเครื่องนอนแม้กระทั่งเสื่อ อาหารก็ฉันตามมีตามเกิดเพียงมื้อเดียว ปีหนึ่งจะสรงน้ำเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น ซึ่งจะทำเมื่อมีสานุศิษย์ร้องขอเพื่อเป็นการแสดงมุทิตาจิต และก็ไม่เคยปรากฏว่าหลวงพ่อจะมีกลิ่นตัวให้ผู้ใกล้ชิดได้สัมผัสรับรู้ วัตรปฏิบัติของท่านก็ค่อนข้างประหลาด
เช่นเดียวกับหลวงพ่อโอภาสี
พฤติกรรมที่ต่างไปจากพระภิกษุอื่นนี้เป็นเหตุให้หลวงพ่อแช่มต้องอธิกรณ์ มีการร้องเรียนกล่าวหาว่าไม่อยู่ในสมณวิสัยประพฤติผิดพระธรรมวินัยเมื่อท่านจำพรรษาอยู่ ณ กุฏิแห่งนี้ ชาวบ้านพากันมากราบท่านทุกวี่วัน ซึ่งคงขัดนัยน์ตาสมภารกร่ายยิ่งนัก ที่หลวงพ่อแช่มมีญาติโยมมาเยี่ยมกราบมิได้ขาดความไม่ชอบใจหลวงพ่อแช่มของสมภารกร่ายได้นำไปสู่การร้องเรียนต่อเจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัดโดยสมภารกร่ายเป็นผู้ร้องเรียนด้วยตัวเองที่สุดนำไปสู่การสอบสวนด้วยข้อกล่าวหาที่ฉกรรจ์หลายข้อด้วยกัน คือ
- ๑. ไม่ยอมอยู่ในปกครองของเจ้าอาวาส
๒. ไม่บอกเล่าให้ทราบว่าจะไปไหน ไปทำอะไร
๓. หายไปจากวัดหลายๆ วันเสมอ ไม่ทราบว่าไปทำอะไรที่ไหน
๔. ไม่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ ไม่สวดมนต์ทำวัตรเช้า วัตรเย็นพร้อมพระภิกษุอื่น
๕. ไม่ลงฟังพระสวดปาติโมกข์ในวันพระ - .
๖. ไม่ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ตามธรรมเนียมของพระภิกษุ
๗. หุงข้าวกินเอง ตั้งครัวทำครัวเหมือนชาวบ้าน
๘. รดน้ำมนต์ ให้หวย ทำเสน่ห์ เป็นหมอรักษาไข้ให้ชาวบ้าน ผิดกิจของสงฆ์
๙. อวดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ผิดศีลของพระภิกษุ
หลวงพ่อแช่มท่านสามารถแก้ได้ทุกข้อจนมาข้อสุดท้ายที่ทำให้เจ้าคณะจังหวัดต้องยอมหลวงพ่อ เจ้าคณะจังหวัดว่า“ที่เค้าว่าท่านอวดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ผิดศีลของพระภิกษุเล่า” หลวงพ่อแช่มตอบว่า“ผมไม่เคยอวดอ้างความวิเศษอะไรที่ผมไม่มีถึงความวิเศษที่ผมมีมากกว่าพระภิกษุอื่นๆ ผมก็ไม่เคยอวด นอกจากมีคนมาถามผมก็ตอบเขาไป ใครมีพยานหลักฐานว่าผมอวดฤทธิ์อย่างไรบ้าง ก็ยืนยันมาเถิด”เจ้าคณะจังหวัดว่าต่อ “เช่นเรื่องหนังเหนียว คงกระพันชาตรี ฟันไม่เข้า ยิงไม่ออก”หลวงพ่อแช่มกล่าวตอบว่า “ผมไม่ได้อวด แต่ผมบอกว่าอานุภาพของคุณพระนั้นช่วยป้องกันอันตรายได้จริงมีอานุภาพจริง เช่น ทำให้ผิวหนังเหนียว ฟันไม่เข้ายิงไม่ออกคลาดแคล้ว”
“ของดีที่แจกไป เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ จะกันมีดพร้าอาวุธได้จริงหรือ”เจ้าคณะจังหวัดถามต่อหลวงพ่อแช่มได้ตอบไปว่า “ถ้าเขามีศรัทธาเชื่อมั่นแล้วใช้เป็นก็ป้องกันศัสตราวุธได้จริง” เจ้าคณะจังหวัดถามอีก “ถ้าผมจะลองฟันคุณเดี๋ยวนี้จะได้หรือไม่”หลวงพ่อแช่มตอบกลับว่า “ยังไม่เคยมีใครมากล้ากับกระผมเลย”เจ้าคณะจังหวัดหัวเราะแล้วกล่าวว่า “ผมก็ไม่กล้าลองคุณเหมือนกัน”
ครั้นแล้วการสอบสวนก็เป็นอันเสร็จสิ้น เจ้าคณะจังหวัดได้บอกว่า “คุณไม่มีความผิดอะไร”
จากนั้นก็ได้สนทนากับหลวงพ่อแช่มถึงการเดินธุดงค์ และคาถาอาคมต่างๆ “ในที่สุดเจ้าคณะจังหวัด
ก็ถามว่า ไหนคุณว่าคุณมีดีกว่าพระภิกษุอื่น คุณมีดีกว่าอย่างไรหลวงพ่อแช่ม ก็ว่าอิติปิโสแปดบทให้ฟัง แล้วก็ว่าอิติปิโสถอยหลังให้ฟังจบแล้วก็บอกว่าพระองค์อื่นก็ว่า อิติปิโสเดินหน้าได้อย่างเดียว แต่ผมนั้นเชี่ยวชาญขนาดว่าทะแยงก็ได้ ว่าถอยหลังก็ได้ จะไม่ดีกว่าพระอื่นได้อย่างไร เจ้าคณะจังหวัดก็เลยพาคณะกลับ”
ในบรรดาสัตว์เลี้ยงของหลวงพ่อมีอยู่หลายชนิด ที่มากที่สุดคือ วัว ซึ่งเป็นจำนวนหลายสิบตัวด้วยกันวัวเหล่านี้กล่าวกันว่าท่านได้อาศัยเป็นแรงงาน สำหรับการทำไร่ไถนา บ้างก็ว่าไม่ใช่ เพราะวัวเหล่านี้เป็นวัวแก่ใช้งานไม่ได้แล้วชาวบ้านจึงพากันเอามาถวายเริ่มแรกมีเพียงตัวสองตัวภายหลังมีผู้นำมาถวายมากเข้า ก็เลยกลายเป็นฝูงย่อม ๆ ขึ้นมา ตอนที่ท่านมรณภาพ วัวจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งหลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง เป็นผู้นำมาเลี้ยง อีกส่วนหนึ่ง หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่ามนำไปเลี้ยงเพราะหลวงพ่อเต๋ท่านเป็นศิษย์รูปหนึ่งของหลวงพ่อแช่ม เช่นเดียวกันกับหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ. เพชรบุรี และหลวงพ่อสี วัดปากคลองบางครก จ.เพชรบุรี หลวงพ่อแช่มท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ รวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี นับพรรษาได้ ๖๕ พรรษา