‘หลวงปู่รอด วัดโคนอน’ ใช้กสิณลมพาสามเณรข้ามน้ำเดินบนใบบัว
เมื่อครั้งที่หลวงปู่รอด ถูกถอดสมณศักดิ์ ‘พระภาวนาโกศล’ เพราะไม่ยอมถวายอดิเรกรัชกาลที่ 4 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดโคนอน พร้อมกับหลวงปู่เอี่ยมผู้เป็นศิษย์เอก และเมื่อหลวงปู่รอดมรณภาพแล้ว หลวงปู่เอี่ยมก็เป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอนรูปต่อมา
ประวัติของหลวงปู่รอดอาจจะไม่ค่อยชัดเจน เพราะท่านเป็นเกจิอาจารย์ยุคเก่า แต่เท่าที่ปรากฏหลักฐาน ท่านมีภูมิลำเนาอยู่คลองบางขวาง ตำบลคุ้งถ่าน อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี (ในสมัยนั้น) เดิมท่านเป็นฐานานุกรมในพระนิโรธรังสี เจ้าอาวาสวัดหนัง บางขุนเทียน
หลวงปู่รอดเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อพระนิโรธรังสีมรณภาพ ได้รักษาการอยู่ช่วงหนึ่ง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนางนอง และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น ‘พระภาวนาโกศลเถร’
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชทานกฐินวัดนางนอง หลวงปู่รอดไม่ยอมถวายอดิเรก ทางราชการจึงปลดออกจากตำแหน่ง และริบสมณศักดิ์คืน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความคิดที่ท่านไม่เห็นด้วย ในการที่รัชกาลที่ 4 ทรงตั้ง ธรรมยุตินิกาย ขึ้นมา ทำให้สงฆ์ต้องแตกแยกกันนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ใดไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรเป็น ‘พระราชาคณะ’ อีกต่อไป เมื่อหลวงปู่รอดถูกถอดจากสมณศักดิ์แล้ว ก็ออกจากวัดนางนอง กลับไปยังวัดบ้านเกิดที่ห่างไกลจากความเจริญ คือวัดโคนอน และได้มรณภาพที่วัดนั้น
หลวงปู่รอด ได้ชื่อว่าเป็นพระผู้ทรงวิทยาคม พุทธคุณขลัง ได้ถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ ให้หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ประวัติกล่าวถึงด้านปาฏิหาริย์เป็นที่เล่าขานกันมาก เป็นที่ฮือฮาในยุคนั้น เช่น ความสามารถในเรื่องการถอนคุณไสย การเดินธุดงค์ตามป่าเขา ได้ผจญกับสัตว์ร้ายนานาชนิด โดยเฉพาะโขลงช้างที่ดุร้าย แต่สัตว์เหล่านั้นก็ไม่สามารถทำอันตรายท่านได้ หรือบางครั้งก็ถูกลองดีจากพวกที่มีวิชาอาคมต่างๆ เช่น พวกกะเหรี่ยงหรือเขมร แต่ทว่าหลวงปู่ท่านก็สามารถสยบได้หมด
อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงคือ หลวงปู่รอด เดินบนใบบัว เมื่อครั้งที่ได้ออกเดินธุดงค์พร้อมด้วยสามเณรลูกศิษย์รูปหนึ่ง พอถึงห้วยกระบอก จังหวัดกาญจนบุรี ด้านหน้าที่จะเดินต่อไปเป็นบึงกว้าง ด้านข้างเป็นเขาสูงชันลำบากต่อการปีนป่ายข้ามไป หลวงปู่รอดจึงหันมาถามสามเณรว่า จะข้ามน้ำกลางบึงไปด้วยกันไหม สามเณรตอบว่า ถ้าหลวงปู่ข้ามไปได้ ผมก็จะข้ามไปด้วย หลังจากนั้นหลวงปู่รอดท่านก็เจริญอาโปกสิณครู่หนึ่ง แล้วจึงก้าวไปบนใบบัวอย่างช้าๆ จนไปถึงอีกฝั่ง
ส่วนสามเณรลูกศิษย์ ตอนแรกก็เดินตามหลวงปู่ไปทุกฝีก้าว แต่สุดท้ายกลับไม่เหยียบตามท่าน จึงตกลงไปในน้ำ หลวงปู่รอดท่านจึงกล่าวกับสามเณรว่า ‘เห็นไหมหละ กำชับไว้แล้วยังพลาดจนได้ ถ้าเป็นกลางบึงอาจจมน้ำได้ การทำเช่นนี้ต้องมีสมาธิจิตที่แน่วแน่’