สวัสดีครับวันนี้ ขอย้อนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หลายคนคงจำได้ถึงเหตุการณ์ ที่นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ออกมารวมตัวชุมนุมประท้วงรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร “13 ขบถรัฐธรรมนูญ” เนื่องจากมี 13 คนได้ออกมาประท้วงเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจากผู้มีอำนาจในขณะนั้น และเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการบานปลายบาดเจ็บครั้งใหญ่
นายประพัฒน์ เล่าให้ฟังว่า ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทำให้ไทยผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 มาได้ ซึ่งช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 13 ตุลา ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 14 ตุลา ขณะที่ผู้ชุมนุมสลายตัวก็เกิดเหตุรุนแรงขึ้นที่ถนนหน้าพระราชวังสวนจิตรลดา ช่วงถนนพระราม 5 ใกล้ถนนราชวิถี เกิดเหตุการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากได้เข้าไปหลบภัยในเขตพระราชวังสวนจิตรลดา โดยมาทราบที่หลังว่าพระองศ์ท่านเป็นผู้สั่งให้มหาดเล็กมาเปิดประตูให้ประชาชนเข้าไปหลบข้างใน
จากนั้น ในวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2516 เวลา 19.15 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีกระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศและทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านทางโทรทัศน์ ณ หอตึกสมุด สวนจิตรลดา มีความว่า
“วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 6 – 7 วันที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องและการเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วการขว้างระเบิดขวด และยิงแก๊สน้ำตาทำให้เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั่วพระนครถึงขั้นจลาจล และยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้งเพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนอยู่ในสภาพปกติ
อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนเพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมและแก้ไขสถานการณ์ให้คืนอยู่ในสภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสงบสุขความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน”
ด้วยพระบารมีของพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 จึงทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สงบลง โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมด้วยจอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระองค์อย่างพอเหมาะพอดีเรื่องการใช้พระราชอำนาจในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติเป็นอย่างมากเพราะทรงตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเสมอ ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรมอีกตอนหนึ่ง หลังเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง ว่า
“ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมากเอะอะอะไรก็ขอนายกฯพระราชทานซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตยถ้าไปอ้างมาตรา ๗ ตามรัฐธรรมนูญเป็นการอ้างที่ผิด อ้างไม่ได้มาตรา ๗ มี๒ บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีระบุในรัฐธรรมนูญก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีหรือตามที่เคยทำมา ไม่มีที่อยากจะได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น การขอนายกฯพระราชทานไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองแบบขอโทษนะ แบบมั่ว แบบไม่มีเหตุผล”
พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางแก้ไขความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ในชาติ จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยุติวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยฉับพลันระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นและเตือนสติแก่ผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหลายให้ระลึกถึงความถูกต้องชอบธรรมนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่พสกนิกรชาวไทย
บทความ พระราชกรณียกิจด้านการพระราชทานความเป็นธรรมและการแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติ