เหตุการณ์วันสวรรคตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สวัสดีครับวันนี้ทีมงานขอนำทุกท่านมาศึกษาเรื่องเล่าตำนาน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  เรามาติดตามกันได้เลย

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า สิน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของราชอาณาจักรนั้น ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่ง เป็นผู้อพยพมาจากเมืองเฉิงไห่ ซัวเถา ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๒๗๗ มีบุตรชายคนหนึ่ง ได้ชื่อว่า สิน เกิดแต่นางนกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวไทย ต่อมาได้รับเฉลิมพระนามเป็นกรมพระเทพามาตย์ สำหรับถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นน่าจะเกิดในแถบภาคกลางมากกว่าเมืองตาก ซึ่งมักว่ากันว่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา

ต่อมา เจ้าพระยาจักรีผู้มีตำแหน่งสมุหนายกเห็นบุคลิกลักษณะ จึงขอไปเลี้ยงไว้เหมือนบุตรบุญธรรม ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากสำนักวัดโกษาวาส (วัดคลัง) และบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๓ ปี ที่วัดสามพิหาร หลังจากสึกออกมาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ ๒๑ ปีตามขนบประเพณี ของไทยบวชอยู่ ๓ พรรษา หลังจากสึกออกมาได้เข้ารับราชการ ต่อกรมมหาดไทยที่ศาลหลวงในกรมวัง

ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) พระมหากษัตริย์ไทยองค์ที่ ๓๔ รัชกาลสุดท้ายแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากจนได้เป็นพระยาตาก ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นได้ถูกเรียกตัวเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อแต่งตั้งไปเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ถึงแก่อนิจกรรมลงในปี ๒๓๑๐

จากนั้นเกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี ๒๓๑๐ พระยาวชิรปราการ (ยศในขณะนั้น) ทรงกอบกู้เอกราชเริ่มแต่ในวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๐๙ พระองค์เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า จึงตัดสินใจรวบรวมทหารกล้าราว ๕๐๐ คน ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่า โดยตั้งใจว่าจะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนให้ได้โดยเร็ว ทรงเข้ายึดเมืองจันทบุรี เริ่มสะสมเสบียงอาหาร อาวุธ กำลังทหาร เพื่อเข้าทำการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อวันอังคาร ที่ ๗ เมษายน ๒๓๑๐ และพระองค์สามารถกู้กลับคืนมาได้ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๓๑๐ รวมใช้เวลารวบรวมผู้คนจนเป็นทัพใหญ่กลับมากู้ชาติด้วยระยะเวลาเพียง ๗ เดือนเท่านั้น

เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยพอสมควร บรรดาแม่ทัพ นายกอง ขุนนาง ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดทั้งสมณะพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรก ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๓๑๐ ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งไปราชการทัพเมืองเขมร และยกกำลังเข้าตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวการจลาจลในกรุงธนบุรี จึงได้รีบยกทัพกลับ ขณะนั้นเป็น เดือนเมษายน ๒๓๒๕ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาถึงในวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ ก็ได้สืบสวนเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และจับกุมผู้ก่อการกบฏมาลงโทษ รวมทั้งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณาความที่มีผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเป็นต้นเหตุเนื่องจากพระองค์ทรงเสียพระสติไป เพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีกจึงให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา ครองราชย์ได้ ๑๕ ปี และถือเป็นจุดสิ้นสุดของกรุงธนบุรี

อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจในวันสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีจดบันทึกไว้หลายวัน จากเอกสารที่ต่างกันไป ตามบันทึกในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เกิดเรื่องราวสำคัญที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างพระราชวังเดิมกับพระบรมมหาราชวัง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี ได้ยกทัพกลับมาจากกัมพูชา เพื่อมาจัดการความวุ่นวายในกรุงธนบุรี

เช้าของวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จมาประทับที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังธนบุรี

“..ณ วัน ๗ ฯ ๙ ๕ ค่ำ เพลาเช้า ๒ โมง เสด็จพระราชดำเนินทัพมาจากเสียมราบ ประทับ ณ พลับพลาหน้าวัดโพธาราม..” (๑)

จากนั้น พระองค์ข้ามฟากไปยังพระราชวังธนบุรี เพื่อพิพากษาโทษ

“..ฝ่ายข้าทูลละออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันไปเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบ ข้ามมาพระราชวังสถิต ณ ศาลาลูกขุน มีหมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุขเฝ้าพร้อมกัน..” (๒)

และแล้วเหตุการณ์สำคัญก็เกิดขึ้น แผ่นดินกรุงธนบุรีปิดฉากลงที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์

เท่ากับว่า เกิดแผ่นดินใหม่ขึ้นแล้ว ในเวลาต่อมา ทางราชการจึงได้สถาปนาวันที่ ๖ เมษายน เป็นวันจักรี

(๑) พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จดหมายรายวันทัพ อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่น, พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๑๒๔

(๒) อ้างแล้ว, หน้าเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก ตามรอย เจ้าตาก โบราณนานมา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า