สวัสดีครับวันนี้ ขอหยิบยกเรื่องเล่าตำนานการเสียแผ่นดินกรุงศรีมาให้ศึกษากัน เรามาติดตามกันได้เลย
ในเหตุการณ์วันเสียกรุง ในปี พ.ศ. ๒๓๐๙ ปีจอ อัฐศก เนเมียวมหาเสนาบดีแม่ทัพพม่า ให้ฉับกุงโบคุมพล ๕๐๐ คน ยกมาตีค่ายทัพไทย ณ วัดไชยวัฒนาราม รบกันอยู่ถึง ๘ วัน ๙ วัน ก็ตีหักเอาค่ายนั้นได้ ทัพไทยแตกพ่ายหลบหนีเข้ากรุง แล้วแม่ทัพพม่าให้อุตมสิงหจอจัว เจ้าเมืองปรอนคุมพล ๕๐๐ คน ยกมาตีค่ายทัพจีนซึ่งตั้งอยู่ ณ คลองสวนพลู รบกันอยู่ถึงเดือน พม่าก็ตีหักเอาค่ายได้ ค่ายไทยซึ่งหนีออกมาตั้งรบอยู่นอกพระนคร ก็เสียแก่พม่าในเดือน ๓ พ.ศ. ๒๓๐๙
เนเมียวแม่ทัพจึงให้นายทัพนายกอง เกณฑ์พลทหารยกเข้ามาทำสะพานข้ามแม่น้ำที่หัวรอ ริมป้อมมหาชัย เอากระดานไม้ตาลตั้งเป็นค่ายวิหลั่นบัง สะพานทั้งสองข้างกันปืนชาวพระนคร แล้วยกพลข้ามสะพาน เลือกมาฟากข้างกำแพงเมือง แล้วให้ขุดอุโมงค์รุ้งไปตามยาวใต้รากแพง ให้ขนเอา ฟืนมาใส่ใต้ฐานราก แล้วให้เกณฑ์พลทหารสี่กอง ๆ ละ ๕๐๐ ให้ทำบันไดเป็นอันมากสำหรับจะพาดกำแพงปีนปล้นเอาเมืองทั้ง ๔ ทิศ ตระเตรียมการทั้งปวงไว้ให้สรรพ กำหนดวันจะเข้าปล้นเมืองในวันใดจะให้สัญญาณอาณัติด้วยเสียงปืนใหญ่เป็นสำคัญ แล้วให้เอาบันไดพาดกำแพงขึ้นปล้นเอาเมืองให้พร้อมกันทุกด้านทุกกอง
ลุศักราช ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก ๒๓๑๐ ณ วันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ วันเนาว์วันสงกรานต์วันกลาง พม่าจุดเพลิงเผาฟืนเชื้อใต้รากกำแพงตรงหัวรอริมป้อมมหาไชย และพม่าค่ายวัดการ้อง วัดนางปลื้มและค่ายอื่น ๆ ทุกค่ายจุดปืนใหญ่ ปืนป้อมและหอรบ ยิงระดมเข้ามาในกรุงพร้อมกันตั้งแต่เวลาบ่ายสามโมงเศษจนพลบค่ำ
พอกำแพงที่จุดเชื้อฟืนเผารากนั้นทรุดลงหน่อยหนึ่ง ถึงเพลาสองทุ่มจึงจุดปืนสัญญาณขึ้น พลพม่าทุกด้านทุกกองซึ่งเตรียมไว้ก็เอาบันไดพาดที่กำแพงทรุดและที่อื่น ๆ รอบพระนครพร้อมกันก็เป็นอันเข้ากรุงเข้าวังได้ในเพลานั้น และจุดเพลิงขึ้นทุกตำบลเผาเหย้าเรือนอาวาส และพระราชวังทั้งปราสาทราชมณเฑียร แสงเพลิงสว่างดังกลางวัน แล้วเที่ยวไล่จับผู้คนค้นริบเอาทรัพย์เงินทองสิ่งของทั้งปวงต่าง ๆ
ฝ่ายเนเมียวแม่ทัพใหญ่จึงให้ทหารไปป่าวประกาศแก่นายทัพนายกองทั้งปวงว่า
“ตัวเรากระทำการตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จเพราะปัญญาและฝีมือของเรา ซึ่งนายทัพทั้งหลายจะมาคอยเอาชุบมือส่วนกวาดเอาพระราชวงศ์กษัตริย์ไทยไปไว้ทุกค่ายทุกทัพเป็นบำเหน็จมือของตัวนั้นไม่ชอบ ให้เร่งส่งมาให้เราทั้งสิ้น ถ้ามิส่งมาเราจะยกไปตีเอาขัติราชวงศ์ทั้งปวงมาให้จงได้”
นายทัพทั้งปวงก็กลัวอำนาจเนเมียว ต่างก็ส่งพระราชวงศานุวงศ์ซึ่งจับมาไว้ ณ ค่ายนั้นให้ไปแก่เนเมียวแม่ทัพ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นทั้งสิ้น มิได้มีผู้ใดขัดแข็งเอาไว้ ฝ่ายสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ พระเจ้าแผ่นดินนั้นเสด็จหนีออกจากพระราชวัง ลงเรือน้อยไปกับมหาดเล็กสองคนไปซ่อนเร้นอยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ใกล้บ้านจิก ข้างวัดสังฆาวาส มหาดเล็กนั้นก็ทิ้งเสียหนีไปที่อื่น ทรงอดอาหารอยู่แต่พระองค์เดียว พม่าหาจับได้ไม่ จับได้แต่พระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวงไปไว้ทุก ๆ ค่าย
กวาดต้อนราษฎรและขนย้ายทรัพย์สมบัติในพระนคร
เนเมียวกับนายทัพนายกองทั้งปวงก็ให้ขนเอาปืนใหญ่น้อยในพระนครศรีอยุธยา ได้ปืนใหญ่น้อย ๑,๒๐๐ เศษ ปืนนกสับอีกหลายหมื่น ขนลงบรรทุกเรือกับขุนนางและครอบครัวราษฎรชายหญิง ประมาณ ๓๐,๐๐๐ คนเศษ บังคับให้เดินตามทัพพม่ากลับไปและไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่พม่า และต่อมาก็กลายเป็นพม่าไปเสียเลย ที่หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดงและไป ณ หัวเมืองต่าง ๆ ก็มาก ที่ยักย้ายทรัพย์สินลงเร้นซ่อนฝังไว้พม่าก็เฆี่ยนตีและให้นำขุดเอาสิ่งของเงินทองได้บ้างไม่ได้บ้าง ฆ่าฟันตายเสียก็มาก พม่าเอาเพลิงสุมหลอมเอาทองคำซึ่งแผ่หุ้มองค์พระพุทธรูปผืนใหญ่ในพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ดาราม ขนเอาทองคำไปเสียสิ้น พม่าได้จัดแจงเก็บรวบรวมเอาทรัพย์มาไว้ทุกทัพทุกค่าย ใช้เวลาอยู่ถึง ๙ วัน ๑๐ วัน
พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีเกือบทุกพระองค์ทรงเพิ่มพูนการก่อสร้างในกรุง วัดอันสวยวิจิตรมีนับตั้งร้อย ๆ เฉพาะภายในโบสถ์ของวัดมงคลบพิตร มีพระพุทธรูปอันใหญ่มหึมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างโดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สูง ๔๘ ศอก กว้าง ๒๕ ศอก มีทองหุ้มอันมีน้ำหนักถึง ๓๖๓ กิโลกรัมเศษ ได้ถูกพม่าทำลาย จนกระทั่งตัววิหารพังลงมาถูกองค์พระพุทธรูปเสียหาย และทองที่หุ้มองค์พระนั้นหายไปด้วย จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางรัฐบาลจึงได้สร้างวิหารขึ้นแทนหลังเดิม
พม่าข้าศึกยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นใช้เวลารบสองปีเศษ พม่าเสียกำลังพลประมาณสามสี่พันคน รวมถึงทั้งป่วยไข้ตาย ไทยเสียคนไปประมาณสองแสนเศษ ทั้งตายด้วยอาวุธ ป่วยไข้ และอดตาย และประเภทคนอดโซตายนั้นรวมถึงสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยานั้นด้วย
ข้อมูล : เรียบเรียงจาก
๑. หนังสือ “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช” พิมพ์ที่ สำนักพิมพ์ “รวมข่าว” พ.ศ. ๒๕๒๘
๒. หนังสือ “เจ้าชีวิต” พระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พิมพ์ครั้งที่ ๖ โดย บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔) จำกัด พ.ศ. ๒๕๕๕
๓. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขอบคุณข้อมูล pantip