วันนี้ขอพาย้อนไปชมภาพหายาก ซึ่งบันทึกในเหตุการณ์ครั้งสำคัญเมื่อพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านละสังขารลงในวันที่ 4 มกราคม 2520 สิริอายุ 77 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จฯไปทรงสรงน้ำศพ
หลังจากท่านละสังขาร ในหลวงก็ทรงถวายหีบทองแด่ท่านผู้เป็น “พระอาจารย์สอนกรรมฐานแด่พระองค์” และนั่นก็เป็นที่มาของภาพการกราบหีบทองของ “หลวงปู่ฝั้น” พระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งในรัชกาลพระองค์ ส่วนบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์ฝั้นได้มีการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สูง 27.9 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐาน 3 ชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่างๆ ภายในเจดีย์มีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นถือไม้เท้าขนาดเท่าองค์จริง มีตู้กระจกบรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่านด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชประสงค์ให้เครื่องอัฐบริขารพระอาจารย์ฝั้นรวมอยู่ที่เดียวจะเป็นเรื่องอันดี
พุทโธขับไล่ผีได้
เมื่อครั้งที่ท่านหลวงปู่ฝั้นออกธุดงค์เผยแพร่ธรรมอยู่ที่ จ.ขอนแก่น ท่านได้สอนให้ประชาชนในแถบนั้นละเลิกการนับถือผี ให้หันมานับถือคุณพระรัตนตรัยแทน ปรากฏว่ามีชาวบ้านหันมานับถือและเข้ามาศึกษาธรรมกับท่านเป็นอันมาก แต่ยังมีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่คลายทิฐิ ชาวบ้านกลุ่มนี้ถูกผีเจ้าภูตามาเข้าสิงอาละวาดก่อกวนคนอยู่บ่อยๆ ทำให้ผู้คนล้มตายไปก็มีซึ่งตรงกันข้ามกับชาวบ้านกลุ่มที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ท่านพระอาจารย์ฝั้นจึงสอนให้พากันน้อมระลึกถึง คุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เอามาเป็นที่พึ่ง แล้วให้นึกบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ จบ แล้วระลึก พุทโธๆๆๆๆ คำเดียว ในทุกอิริยาบถ ท่านบอกว่าถ้าทำดังนี้แล้วผีจะมาทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเราได้คุณพระมาเป็นที่พึ่งแล้ว พวกโยมทั้งหลายจึงพากันทำตามที่ท่านสอน ปรากฏว่าพวกผีที่ก่อกวนเบียดเบียน ไม่กล้าเข้ามากล้ำกรายทำอันตรายแก่พวกชาวบ้านที่ปฏิบัติตามที่ท่านสอนได้เลย
- ธรรมะคำสอน
“ถ้าเราหัวใจยังอ่อน เราก็ต้องตั้งมันให้แข็งขึ้น ตั้งหลักตั้งฐานขึ้น สิ่งทั้งหลายทั้งหมดใจถึงก่อน ใจเป็นรากฐาน ใจเป็นประธาน มันไม่ได้เป็นเพราะอื่น เราปล่อยใจให้มันอ่อน มันก็อ่อน ต่อไปนี้อย่าให้มันอ่อนนะ ทำใจให้เข้มแข็ง”
“สิ่งใดเป็นทุกข์ก็อย่าไปยึดมันสิ อย่าไปถือมันสิ ปล่อยวางเสียซิ ยึดทุกข์ มันก็เป็นทุกข์ซิ ยึดเอาสิ่งไม่ดี มันก็เป็นคนไม่ดีซิ อย่ายึดเอาวางให้สบาย ผู้รู้ว่าสบายมี นี่แหละผู้ปฏิบัติให้พึงรู้และพิจารณาสิ่งที่มีอยู่”