เพจ โบราณนานมา ได้โพสข้อมูลไว้ว่า เจ้าตากได้เดินทางกลับจากตราดมาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรี เพื่อวางแผนปฏิบัติการรบเพื่อตีกรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึก พร้อมกับสั่งให้ต่อเรือรบและรวบรวมเครื่องศัตราวุธและยุทธภัณฑ์ภายในเวลา ๓ เดือน พร้อมกับฝึกไพร่พลให้พร้อมที่จะปฏิบัติการ
เมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม ๒๓๑๐ เจ้าตากได้ยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเข้าโจมตีข้าศึกที่เมืองธนบุรี เมื่อเจ้าตากยึดเมืองธนบุรีและปราบนายทองอินได้แล้ว จึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยาเข้า ยึดค่ายโพธิ์สามต้นปราบพม่าจนราบคาบ สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อวันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๓๑๐ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. ใช้เวลา ๗ เดือนหลังจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยา
หลังจากพระเจ้าตากสิน ทรงกอบกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยาในระยะเวลา ๗ เดือนจนกระทั่งสำเร็จ เดิมทีพระองค์ทรงคิดที่จะปฏิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยาให้กลับคืนเป็นดังเดิม แต่หลังจากตรวจดูแล้วยากต่อการฟื้นฟู จึงทรงให้อพยพผู้คนและทรัพย์สินลงมาทางใต้ และตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เรียกนามว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร
หลังจากสร้างพระราชวังบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยพอสมควร บรรดาแม่ทัพ นายกอง ขุนนาง ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดทั้งสมณะพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันจันทร์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๓๑๐
อีกข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเพจ ตามรอยเจ้าตาก ได้ลงข้อมูลไว้ว่า ในพระราชพงศาวดารไม่ได้ระบุวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพิชิตค่ายโพธิ์สามต้นเอาไว้แบบชัดเจน บอกเพียงว่าเป็นวันข้างขึ้น เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๑๒๙ เราจึงถือเอาวันที่ ๖ พฤศจิกายน (๑) เป็นการอนุโลมไปก่อน เพื่อรำลึกถึงพระมหาวีรกรรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สำหรับเหตุการณ์ในการตีค่ายโพธิ์สามต้นแตกนั้น พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า หลังจากที่ทัพของพระองค์ตีเมืองธนบุรีได้แล้ว ทัพเรือได้รีบเร่งขึ้นไปที่โพธิ์สามต้น ซึ่งสุกี้พระนายกองคุมทัพพม่าเอาไว้ และค่ายโพธิ์สามต้นมีสองฝั่ง โดยมีแม่น้ำผ่ากลางแบ่งเป็นตะวันออกและตะวันตก ทัพเรือของพระองค์ยกพลขึ้นบกทางฟากตะวันออกของโพธิ์สามต้น
“..ยกเข้าตีค่ายโพสามต้นฟากตะวันออก พะม่าก็แตกหนีเข้าค่าย จึงตรัสสั่งให้ทำบันไดจะเข้าตีค่ายตะวันตก ซึ่งพระนายกองตั้งอยู่นั้น แลกองพระยาพิพิธ พระยาพิชัย เป็นทัพหน้า เข้าตั้งค่ายประชิด ณ วัดกลางห่างค่ายประมาณ ๗ เส้นเศษ ด้วยพระเดชเดชานุภาพ ฝ่ายข้าศึกให้สยบสยองกลัวเป็นกำลัง ต่างคนต่างก็หนีออกจากค่ายพระนายกองสิ้น..”(๒)
การพิชิตค่ายโพธิ์สามต้นได้ นับเป็นปฐมบทแห่งการฟื้นฟูแผ่นดินที่สูญเสียไป พระองค์ทรงใช้เวลาอีกหลายปี เพื่อรวบรวมแคว้นต่าง ๆ กลับมาอยู่ในการปกครอง
(๑) วันที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๓๑๐ เมื่อเทียบในปฏิทิน ๑๐๐ ปีแล้ว จะไปตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๑๒๙
(๒) พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จดหมายรายวันทัพ, อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่น – – พิมพ์ครั้งที่ ๑ กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, ๒๕๕๑, หน้า ๕๓
ขอบคุณเพจ โบราณนานมา , ตามรอยเจ้าตาก