“นิลจิตรลดา” พันธุ์ปลาพระราชทานจากพ่อหลวง โปรตีนธรรมดาที่มาจากพระราชวัง

“ปลานิล” อาหารโปรตีนราคาถูกที่คนไทยทั่วประเทศรู้จักและมีโอกาสได้ลิ้มรสกัน รองจากปลาทูก็ว่าได้ ปลานิลเลี้ยงง่ายเพราะเป็นปลากินพืช แถมยังออกลูกดก อาหารโปรตีนย่อยง่ายตัวนี้จึงได้รับความนิยมกันมากในปัจจุบัน

ภายในเขตพระราชฐาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต อาจพูดได้ว่าเป็นพระราชวังแห่งเดียวในโลก ที่ไม่เพียงมีแปลงนาที่มีการทำนาจริง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีบ่อเลี้ยงปลาเพื่อเพาะพันธุ์ปลาสำหรับพระราชทานอีกด้วย

ขอย้อนกลับไปก่อนที่จะเกิดเป็นโครงการเพาะเลี้ยงปลานิลในปี พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่งเลี้ยงปลาหมอเทศที่เจ้าหน้าที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายในสระน้ำบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน โดยส่งให้กรมประมงนำมาทดลองเลี้ยงและขยายพันธุ์ในพื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานด้วย เนื่องจากทรงพิจารณาเห็นว่าปลาหมอเทศนี้เลี้ยงง่าย โตเร็ว กินอาหารธรรมชาติ คือ ตะไคร่น้ำ และเศษวัชพืช อีกทั้งยังสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ง่าย

เวลาต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งประเทศญี่ปุ่น ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร ได้ทูลเกล้าฯ ถวายลูกปลาสายพันธุ์ใกล้เคียงกับปลาหมอเทศซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia nilotica จำนวน 25 คู่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำไปเลี้ยงไว้ในบ่อดินภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งพบว่า ปลาชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและมีรสชาติดี

ในปีถัดมาได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า ปลานิล โดยเรียกชื่อตามพยางค์ต้นของชื่อสายพันธุ์ คือ nilotica และได้พระราชทานพันธุ์ปลาที่ทรงเพราะเลี้ยงกว่า 10,000 ตัว แก่กรมประมง เพื่อนำไปให้กับสถานีประมงจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ และแจกจ่ายให้กับราษฎร อีกทั้งยังเป็นโปรตีนที่หาได้ง่าย และราคาไม่แพง

ในขณะเดียวกันยังทรงมีพระราชดำริให้กรมประมงรักษาสายพันธุ์ปลานิลพันธุ์แท้ไว้ที่บ่อปลาภายในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ด้วยเหตุนี้ปลานิลที่เพาะเลี้ยงในบ่อเพาะเลี้ยงตลอดแนวถนนเข้าโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จึงมีชื่อเรียกว่า ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา โดยทรงมีพระราชกระแสรับสั่งไว้คราวหนึ่งว่า

“…ถ้าหาปลานิลพันธุ์แท้ไม่ได้ ก็ให้มาเอาที่สวนจิตรลดา…”

‘การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทน เป็นที่ตั้ง
ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ’

พระบรมราโชวาท พระราชทาน แก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา
๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓

เนื้อหาจาก หนังสือ 50 ปี โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า