ในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ที่สยามถูกคุกคามด้วยความแตกต่างกันอย่างมากของพลังอำนาจทางทหารจากมหาอำนาจจักรวรรดิฝรั่งเศส เพียงแค่ส่งเรือรบมาไม่กี่ลำ กลับสามารถบีบบังคับราชอาณาจักรสยามให้ยินยอมเสียดินแดนและผลประโยชน์
ครั้งเมื่อ ร.ศ.112 สยามเองมีความด้อยกว่าฝรั่งเศสทางอำนาจกำลังรบ เหตุการณ์ครั้งนี้ยังสร้างความคับแค้นใจแก่ชายชาติทหาร ที่ไม่สามารถปกป้องราชอาณาจักรไว้ได้ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเร่งปรับปรุงประเทศให้เป็นอารยะ เช่นเดียวกับยุโรป
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือพระนามที่ทหารเรือนิยมเรียกกันว่า “เสด็จเตี่ย” พระองค์ได้สัก ร.ศ. ๑๑๒ ตราด บริเวณอุระ ซึ่งขณะเกิดเหตุการณ์นั้น เสด็จในกรมมีพระชนมายุเพียง 13 ชันษา เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจถึงเหตุการณ์อันน่าขมขื่นนี้
กรมหลวงชุมพรฯ พระองค์ถือได้ว่ามีบทบาทที่สำคัญในแผนการปรับปรุงกำลังทางเรือของสยาม โดยรัชกาลที่ 5 ได้ส่งพระองค์เสด็จไปศึกษาวิชาทหารเรือ ที่โรงเรียนนายเรือ Greenwich แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆของโลก เพื่อนำกลับมาพัฒนากิจการทหารเรือของสยามให้ทัดเทียมยุโรป
เมื่อกลับมาสยาม เสด็จเตี่ยจึงได้ทุ่มเทแรงกายและใจในการพัฒนากองทัพเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสด็จเตี่ยยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียนนายเรือ และเป็นครูทหารเรือประจำโรงเรียนนายเรือ ซึ่งนอกจากจะได้ถ่ายทอดวิชาทหารเรือให้แก่นักเรียนนายเรือรุ่นแรกๆแล้ว ยังได้ทรงสักหน้าอก ร.ศ.๑๑๒ ตราด ให้นักเรียนนายเรือสายตรงเพียงไม่กี่คนด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกด้วย เพื่อปลูกฝังให้จดจำเหตุการณ์นี้
กรมหลวงชุมพรฯทรงนิยมสักยันต์ทั้งพระองค์ตั้งแต่สมัยวัยหนุ่ม รูปสักที่มีบันทึกมีดังนี้ หนุมาน, ลิงลม(บริเวณพระชงฆ์ เพื่อให้เดินเร็ว), มังกร (เลื่อยพันบริเวณแขนเพื่อให้มีกำลังแขน), อักขระ(บริเวณข้อนิ้ว เพื่อให้ชกต่อยได้หนัก) และ ร.ศ.๑๑๒ ตราด (เพื่อเตือนใจ)
การสัก “ร.ศ.๑๑๒ ตราด” นี่ยังเป็นสัญลักษณ์ของตำนาน ทหารเสือกรมหลวงชุมพร ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทหารคนสนิทของเสด็จเตี่ย ที่แกร่งกล้าวิชาอาคมและการทหาร (เหตุที่มีคำว่าตราด เพราะฝรั่งเศสได้ยึดเมืองตราดไว้ ทำให้รัชกาลที่ 5 ต้องแลกเปลี่ยนด้วยดินแดนมณฑลบูรพา)
โอกุสต์ ปาวี นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ผู้สำรวจดินแดนบริเวณฝั่งแม่น้ำโขง เคยเป็นกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพมหานครเมื่อ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2435 นายปาวี เป็นผู้ยื่นคำขาด ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เพื่อให้ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่กำลังมีเรื่องพิพาทให้แก่ฝรั่งเศสทั้งหมด แต่เมื่อไทยให้คำตอบไม่เป็นที่พอใจ
นายปาวีจึงเดินทางออกจากประเทศไทยทันที ถือเป็นการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตจากนั้นกองทัพเรือฝรั่งเศสได้ยกเรือรบประกอบด้วยเรือแอ็งกงสต็อง เรือกอแม็ตและเรือฌ็อง บาติสต์ แซ เข้ามาปิดอ่าวไทยทำให้ไทยต้องยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องและสูญเสียดินแดนลาวทั้งหมด ให้แก่ ฝรั่งเศสเป็นพื้นที่ประมาณ 143,800 ตารางกิโลเมตรจากผลงานในการยึด ดินแดนมาจากไทยได้ดำรงตำแหน่ง Commissioner-general ของดินแดนใหม่
ส่วนตัวเราตายไว้ยืน ไว้ยืนแต่ชื่อ
ให้โลกทั้งหลายเขาลือ ว่าตัวเราคือทหารเรือไทย
บทเพลงพระนิพนธ์ “เกิดมาทั้งที” (เดินหน้า)
ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ
ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก:-หนังสืออนุสรณ์ พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน)