ในจังหวัดนครสวรรค์เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว มีคนต้องการมีดของหลวงพ่อเดิม จำนวนมาก จนทางวัดหนองโพจึงจัดมีการประกวดมีดหมอ โดยมีคณะกรรมการวัดเป็นผู้ตัดสิน โดยมีช่างทำมีดที่ส่งมีดประกวดได้แก่ ช่างฉิม ช่างลี่ ช่างพลัดช่างแทน ช่างเชย ช่างสอน
สำหรับช่างไข่ไม่ได้ส่งมีดเข้าประกวดในครั้งนั้น การประกวดครั้งนั้นปรากฎว่า ช่างฉิม ชนะเลิศการทำมีดหมอ ช่างฉิมยกครู กับช่างโฉม พ่อของช่างสอน และ ช่างโฉมมีศักดิ์เป็นญาติกับช่างฉิม ค่ายกครูคือเงินหนึ่งสลึง 25 สตางค์และเครื่องสักการะครู
หลังจากประกวดชนะเลิศแล้ว ช่างฉิมก็ทำมีดหมอส่งมาที่วัดหนองโพตลอดมา ครั้งละ ๑๐ เล่ม รวมแล้วเดือนละ 20 เล่ม มีดที่ทำเป็น มีดควาญช้างเป็นส่วนใหญ่ สำหรับเศษงา นำมาทำเป็นมีดปากกาหรือมีดเล็ก และการทำมีดปากกานั้นเป็นการทำในช่วงหลังช่างฉิมทำมีดหมอให้หลวงพ่อเดิมเรื่อย มาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2482 จนกระทั่งปี พ.ศ.2494 ก่อน หลวงพ่อเดิมมรณะภาพ
มีดหมอในยุคต้นๆนั้นจะไม่มีเอกลักษณ์แน่นอน ส่วนใหญ่จะเป็นฝีมือชาวบ้าน โดยชาวบ้านทำกันมาเองแล้วมามอบให้หลวงพ่อเดิมปลุกเสกให้
เดิมที ช่างฉิม นามสกุล พุทธรักษา เกิดวันศุกร์ เดือน 8 แรม 8 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับ พ.ศ.2448 บิดาชื่อนายเสน พุทธรักษา มารดาชื่อนางจี่ อินทร์ประสิทธิ์ เกิดที่ ต.ม่วงหัก อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์ และภรรยาของช่างฉิมชื่อนางจำรัส พุทธรักษา(นามสกุลเดิม จั่นเทศ) เกิด พ.ศ.2456
ความเกี่ยวพันของช่างฉิมกับการสร้างมีดหมอหลวงพ่อเดิม ช่างฉิมเมื่ออายุ 12 ปี เป็นลูกศิษย์ พระใบฎีกาคล้อย วัดบ้านบน และ ช่างฉิมได้อุปสมบทที่วัดบ้านบนโดยมีหลวงพ่อเดิม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระใบฎีกาคล้อยวัดบ้านบนและหลวงพ่อนวล วัดพระปรางค์เหลือง เป็นพระคู่สวด และบวชอยู่นานถึง 4 พรรษา
หลังจากลาสิกขาออกมาช่างฉิมได้มาอยู่ที่บ้าน ต.ม่วงหัก อ.พยุหคีรี ในช่วงเวลานั้นช้างพลาย 2 ตัว ชื่อทวีและบัวบานตาย ช้างทั้ง 2 ตัว มีงาใหญ่และยาวประมาณ 2 ศอก มีคนมาขอซื้องาคู่ละ 200 แต่หลวงพ่อเดิม ไม่ยอมขาย เพราะให้ราคาถูก ท่านว่าจะเอาไปทำมีดหมอ แล้วนำเงินที่ให้เช่ามาสร้างโบสถ์ และศาลาวัดหนองโพจะดีกว่า ท่านจึงถามช่างฉิมว่า
“มึงทำได้ไหม”
ช่างฉิมตอบว่า “ทำได้”
มีดหมอที่ทำในครั้งนั้นเป็นมีดใหญ่ หรือมีดควาญช้างทั้งหมด ด้ามมีดทำด้วยงา ส่วนฝักทำจากไม้ชิงชันและไม้พยูง เมื่อทำเสร็จแล้วก็นำไปให้วัดหนองโพ โดยคิดค่าแรงเล่มละ 2 บาท 50 สตางค์ ช่างฉิมเรียนการทำมีดหมอด้วยตัวเองและสนใจมาตั้งแต่เป็นเด็ก เลยลองหัดทำเรื่อยมา ช่างฉิมไม่ได้เรียนการทำมีดหมอจากพ่อ คือนายสน พุทธรักษาเลย เพราะไม่ใช่ช่างทำมีด นายสนเพียงแต่ใช้เวลาว่างสานกระบุงตระกร้าเท่านั้น
คาถาอาราธนามี ดหมอ (จากตำราของ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ)
สักกัสสะ วะชิราวุธัง เวสสุวัณนัสสะ คะทาวุธัง ยัมมะนัสสะ เนยยะนาวุธัง
อาฬะวะกัสสะ ทุสาวุธัง นะรายัสสะ จักกะราวุธัง ปัญจะอะวุทธานัง
เอเตสัง อานุภาเวนะปัญจะอะวุทธา ภัคคะภัคขาวิจุณณัง
วิจุณณาโลมัง มาเมนะพุธสันติ คัจฉะอะมุมหิ โอกาเส ติถาหิ
การปลุกเสกมีดหมอของหลวงพ่อเดิมจากคำบอกเล่าของช่างฉิม
ช่างฉิมบอกว่า เมื่อนำมีดหมอไป ให้หลวงพ่อเดิมไม่ว่าจะเป็นในกุฏิหรือที่ใดก็ตามท่านจะปลุกเสกไม่นาน เพียงแต่เอามือคนๆ เท่านั้นท่านก็บอกว่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว การปลุกเสกนั้นส่วนใหญ่ท่านจะนั่งปลุกเสก แต่บางครั้งถ้าหากท่านจำวัดอยู่ ท่านก็ปลุกเสกในขณะที่ท่านนอนอยู่ การเข้าไปในกุฏิท่านนั้น ท่านจะอนุญาตเฉพาะช่างฉิมคนเดียวเท่านั้น
ช่างฉิมผู้ซื่อตรง แห่งบ้านโคกไม้เดน ท่านเป็นช่างตีมีดที่มีคุณธรรมสูง ภายหลังหลวงพ่อเดิมมรณภาพไปนานแล้ว มีคนมาว่าจ้างให้ท่านตีมีดหลวงพ่อเดิมขึ้นมาใหม่ให้เมือนของเก่า ช่างฉิมท่านไม่ทำ ท่านทำใหม่โดยต้องมีความแตกต่าง ไม่ให้ซ้ำรอยของอาจารย์
ช่างฉิมและนางจำรัส พุทธรักษา มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 74 หมู่ 8 บ้านโคกไม้เดน ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์ ปัจจุบันทั้ง 2 ท่าน ได้เสียชีวิตไปนานแล้ว
ขอบคุณข้อมูลโดย ศรัทธาอาคม