จังหวัดอยุธยานั้นมีประวัติศาสตร์ถาวรวัตถุและตำนานมานาน มีเรื่องเล่าขานไว้มากมาย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีวัดมากมาย ในที่นี้ขอกล่าวถึงซากแห่งรอยอารยธรรมเก่าแก่ “เจดีย์นักเลง วัดสามปลื้ม”
หลักฐานที่มาไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด ตัวเจดีย์ทรงกลม ฐานแปดเหลี่ยม ก่ออิฐไม่สอปูน ซึ่งเป็นแบบเจดีย์ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น เจดีย์วัดสามปลื้มปัจจุบันเหลือเพียงองค์เจดีย์ตั้งอยู่ตามลำพัง เจดีย์วัดสามปลื้มเคยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อปี ๒๔๘๖ และยังได้รับการบูรณะครั้งหนึ่ง สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
เหตุที่มีชื่อสุดแปลกประหลาดนี้ จนชาวบ้านบางส่วนจึงขนานกันว่า “เจดีย์นักเลง” เจดีย์ที่ตั้งตระหง่านไม่หลบให้ถนน เรื่องมีอยู่ว่าครั้นเมื่อมีการตัดถนนผ่านตัวเมือง และต้องการทำถนนตัดผ่านตัวเจดีย์ จำเป็นต้องรื้อถอนเจดีย์นี้ออก แล้วสร้างถนนทับ แต่ทว่าได้มีกลุ่มนักเลงกลุ่มหนึ่งไม่ยอม คัดค้านการรื้อถอนของเจดีย์แห่งนี้ แต่สุดท้ายการก่อสร้างจึงจำเป็นต้องตัดถนนอ้อมตัวเจดีย์ไปโดยปริยาย

ในอดีตมีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า เจดีย์วัดสามปลื้มสร้างโดยมารดาของเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาปาน (ปาน) เป็นแม่นมของพระนารายณ์มหาราช หรืออีกชื่อที่เรียกกันว่าเจ้าแม่ดุสิต (บัว) เหตุที่ว่าดีใจที่ลูกชายไปรบแล้วชนะศึกสงคราม ได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูง จึงสร้างเจดีย์วัดสามปลื้มขึ้น
เจดีย์นักเลงกลางถนนโรจนะ อ.พระนครศรีอยุธยาแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก คนอยุธยาชาวชุมชนวัดสามปลื้มและประชาชนทั่วไปนับถือ ในเดือนเมษายนของทุกปีจะมีพิธีห่มผ้าและให้ร่วมเขียนชื่อ ส่งท้ายประเพณีสงกรานต์มีสาธุชนต่างนำเครื่องสักการะมาตั้งบูชา ขอโชคลาภกันคับคั่ง