หลายๆคนคงเคยเห็นภาพสมเด็จลุนที่เป็นที่คุ้นตาในอินเตอร์เน็ต แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราเข้าใจผิดกันมาซะนาน แท้จริงแล้วภาพที่เราเห็นคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธัมมสโร) ขณะนั้นสมณศักดิ์เป็นพระราชมุนี พระราชาคณะชั้นราช ซึ่งท่านคืออดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 9 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะมณฑลชุมพรและพิศณุโลก
มีนามเดิมว่า เข้ม ธนสังข์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ (วันแรม ๗ ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู) จุลศักราช ๑๒๑๕ ปีที่ ๓ แห่งรัชกาลที่ ๔ ณ บ้านโรงช้าง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เมื่อมีอายุ ๑๐ ปี ได้ศึกษาเล่าเรียนอักขระสำนักพระอาจารย์พุ่ม วัดนครชุม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
พ.ศ. ๒๔๑๐ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ได้ลงมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร อยู่เป็นศิษย์ พระญาณสมโพธิ (อ่ำ) ครั้งยังเป็นพระอันดับ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ (อายุ ๑๕ ปี) ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ (อายุ ๒๓ ปี) ณ วัดรังษีสุทธาวาส โดยมี พระปัญญาพิศาลเถร (บัว) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระโพธิวงศาจารย์ (วิญญู) วัดบรมวงศ์อิศรวราราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดศรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า ธมฺมสโร อุปสมบทแล้วกลับมาวัดมหาธาตุฯตามเดิม
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธัมมสโร) มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๑๖.๓๐ น. สิริรวมอายุได้ ๘๙ ปี พรรษา ๖๗
มูลเหตุบ่งชี้คือพัดยศที่เราเห็นในภาพ เพจกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า คือ พัดไอยราพต บ้าง พัดเอราวัณ บ้าง จัดเป็นพัดรองที่ระลึกลำดับแรกที่มีลวดลายสัญลักษณ์ของงานและระบุศักราช สั่งปักจากประเทศจีน เป็นพัดรองงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๔๑๖ ลักษณะพัด พื้นแพรสีฟ้าอมเทา ปักไหมหลากสีเป็นลายพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลายจุลมงกุฎเปล่งรัศมี
ประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า มีฉัตรประดับ ๒ ข้าง และพระราชลัญจกรไอยราพตเป็นรูปช้าง ๓ เศียร ในกรอบรูปโล่ มีราชสีห์และคชสีห์ขนาบซ้ายและขวา มีริบบิ้นสีชมพูจารึกอักษรพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ บดินทรเทพยมหามงกุฎ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ศักราช ๑๒๓๕ มีลายประกอบรูปกิ่งไม้ ดอกไม้ ขอบโดยรอบลายดอกไม้ ด้ามเป็นงา นมพัดเป็นงาแกะสลักเป็นรูปจุลมงกุฎ ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีฉัตรประดับซ้ายขวา ในจดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งหลัง รัชกาลที่ ๕ เรียกว่า พัดด้ามงาทั้งแท่งปักลายตราแผ่นดิน เนื่องจากลักษณะพิเศษของพัดนี้ คือ ด้ามและนมพัดเป็นงาตลอดด้าม