เมืองสุพรรณบุรีในอดีตสมัยประมาณพ.ศ. ๒๔๗๗ นั้น บ้านเมืองไม่ค่อยเรียบร้อย เป็นแหล่งของชุมโจรมากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะตลาดใหญ่ๆอย่างเช่น “ตลาดเก้าห้อง” เป็นที่หมายตาของบรรดาเหล่าเสือน้อยเสือใหญ่ทั้งหลาย บ่อยครั้งที่ต้องสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน
สมัยนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังน้อยดูแลได้ไม่ทั่วถึง ทางการไม่สามารถปราบปรามได้หมด ชาวบ้านมีความจำเป็นต้องพึ่งพากันเอง โดยเฉพาะเมื่อเถ้าแก่ฮงหรือ นายบุญรอด เหลียงพานิช คหบดีแห่งตลาดเก้าห้อง เคยโดนปล้นทรัพย์และนางแพ ผู้เป็นภรรยาถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต จึงได้คิดจัดทำสร้างป้อมสังเกตการณ์มีชื่อเรียกว่า “หอดูโจร” ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗
โดยตัวหอเป็นสถาปัตย์กรรมแบบจีน ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๑ ปีเศษ มีความสูง ๕ ชั้น กว้างประมาณ ๓ เมตร ยาวประมาณ ๓ เมตร ชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้า ที่บริเวณฝาผนังของแต่ละชั้นทุกด้านเจาะรูกลมโตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ นิ้วไว้สำหรับมองโจรและสอดปลายปืนลงไปเด็ดหัวโจร เป็นหอคอยที่แข็งแรงมาก ขนาดบานประตูเข้าซึ่งมีอยู่บานเดียว มองเห็นได้ระยะไกลไม่ว่าทั้งทางบกและทางน้ำ โดยเกณฑ์อาสาสมัครชายฉกรรจ์เป็นเวรยามดูและความปลอดภัย ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “ป้อมปราบโจร”
ครั้งหนึ่งเสือมเหศวรเคยเล่าไว้ว่าเคยอยากจะลองดีกับป้อมนี้เหมือนกัน จึงได้เอ่ยปากชวนเสือดำเพื่อนคู่หูไปปล้นตลาดเก้าห้องด้วยกัน แต่เสือดำรู้กิติศัพย์ป้อมนี้ดีจึงไม่ขอรวม เพราะด้วยหอนี้สามารมองเห็นได้ทั่วทิศ จึงไม่กล้าเสี่ยง “บอกว่าไปก็ตายเปล่า” เมื่อหาเพื่อนร่วมไม่ได้เสือมเหศวรจึงต้องเลิกล้มความตั้งใจไป จึงไม่มีไอ้เสือคนไหนกล้าท้าทายป้อมปราบโจรนี้อีกเลย
ขอบคุณภาพ Nutniparpat Praponaukkaramongkon