คนไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ สิ่งลี้ลับ ผี วิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยถูกเหมารวมไปเป็นความเชื่อต่างๆที่คิดว่าคือสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ทำให้มีทั้งคุณและโทษได้ หากเอ่ยถึงผี ในความเชื่อของบ้านเรามีอยู่มาก ว่าตามแม่น้ำ ดิน ภูเขา อาคารบ้านเรือน แม้แต่พื้นที่รกร้าง จะมีผีเจ้าที่เจ้าทาง คอยดูแลคุ้มครองอยู่
หากหมอผีจะเข้าไปทำกิจอันใดในป่าช้าจะต้องทำพิธีบวงสรวงเสียก่อน เหมือนเป็นการเสี่ยงทาย ว่าการจักทำกิจอันใดๆนั้นได้หรือไม่ หรือมีผลอันเป็นสำเร็จหรือไม่ ในสายของผู้เรียนคาถาอาคมจะค่อนข้างให้ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งนี้มาก
ในสมัยก่อนเวลามีการเผาศพในแต่ละครั้ง เราจึงมักได้ยินคนเฒ่าคนแก่โยนเงินเหรียญลงไปในโลงแล้วพูดว่า
“ยายกะลา ตากะลี ขอซื้อที่ ๓ วา ๒ ศอก”
เหมือนเป็นการซื้อที่อยู่ให้กับผู้วายชนม์ ในสมัยก่อนนั้นร่างมักจะฝังไว้ก่อนแล้วค่อยนำมาเผาทีหลัง
เรื่องนี้พ้องกับข่าวที่เคยออก ณ วัดยางเอน จ.สุโขทัย พระสงฆ์และชาวบ้านกว่า สามร้อยคน ได้ร่วมกันประกอบพิธีฌาปนกิจกล้วย เพื่อเป็นเคล็ดให้คนมีอายุยืนขึ้น โดยการทำพิธีนี้จำนำต้นกล้วยมาวาดเป็นเสมือนคนจริงๆ โดยสมมุติให้ต้นกล้วยชื่อว่า นายกล้วย นามสกุล รวยมากๆ อายุ 122 ปี เสร็จแล้วนำห่อผ้าขาวใส่ในโลง ให้ชาวบ้านจะวางธูป ดอกไม้จันทน์ พร้อมกับอธิษฐานขอให้พ้นทุกขเวทนาต่างๆ
ในพิธีนี้มีสวดพระอภิธรรม มหรสพเช่น ฉายหนังกลางแปลง ถวายภัตตาหารเพล เทศน์แจง สวดแจง ทอดผ้าบังสุกุล ก่อนให้ปี่กลองมังคละนำแห่รอบเมรุ 3 รอบ พร้อมกับโปรยทาน และแจกไข่ไก่ให้กับชาวบ้านที่มาร่วมงานคนละ 9 ฟอง เพื่อความ 9 หน้า
การเผาผีต้นกล้วยนี้เป็นไปตามความเชื่อโบราณ เมื่อมีการสร้างเมรุเสร็จแล้ว ต้องทำพิธีบวงสรวงผีนายป่าช้า “ยายกะลา ตากะลี” เพราะชาวบ้านกลัวว่าถ้าไม่ทำจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นในหมู่บ้าน
เรื่องน่ารู้ – ในอีกความเชื่อที่คล้ายๆกันคือ คำว่า เจ้าป่าเจ้าเขา บางครั้งชาวบ้านก็เรียกว่าผี บางครั้งก็เรียกว่าเทวดา ในเว็บไซต์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ให้ข้อมูลไว้ว่าเป็น“เทวดาประจำถิ่น” เพราะในพื้นที่ทั่วไปในบ้านเรามีความเชื่อเกี่ยวกับเทพารักษ์ พระภูมิเจ้าที่ เจ้าทุ่ง เจ้าป่า เจ้าเขา ซึ่งเป็นเทวดาที่คอยดูแลรักษาประจำถิ่น หากเป็นเทวดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้เรียกว่า รุกขเทวดา
คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาถือว่ารุกขเทวดาอยู่จำพวกเดียวกับพระภูมิและเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา
สิ่งที่คล้ายกัน – นางไม้เป็นผีผู้หญิงที่สิงตามต้นไม้ใหญ่ๆ ต่างไปจาก รุกขเทวดา คือเมื่อต้นไม้ที่สิงนั้นล้มลง รุกขเทวดาสามารถย้ายไปต้นไม้อื่นต่อได้ แต่นางไม้ยังคงสถิตในต้นไม้นั้นตลอดไป แม้ต้นไม้นั้นถูกแปรรูปไปแล้วก็ตาม