หลวงปู่สังข์ วัดป่าอาจารย์ตื้อ ละสังขารแล้ว

หลวงปู่สังข์ สังกิจฺโจ นามเดิมของท่านชื่อ สังข์ นามสกุล คะลีล้วน กำเนิดวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2473 บ้านเกิดของท่านอยู่ที่บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

เรียนจบชั้นป. 4 เมื่ออายุครบ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ พัทธสีมา วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม ในพรรษาแรกที่ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่วัดอรัญญวิเวกบ้านข่า หลังจากออกพรรษาแล้ว เคยไปกราบครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่สีลา อิสฺสโร วัดป่าอิสสระธรรม บ้านว่าใหญ่, หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม วัดอุดมรัตนาราม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร

เมื่อมีโอกาสเข้ากราบฟังธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ครั้งยังบวชเป็นสามเณร ครั้นบวชเป็นพระภิกษุแล้วไปสักระยะหนึ่ง ก็ได้ออกติดตามธุดงค์ไปกับหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ผู้เป็นทั้งอาจารย์และหลวงลุง

ต่อมาพ.ศ.2493 อายุครบ 20ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าอุปสมบทก็อยู่จำพรรษา วัดป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม กับพระอุปัชฌาย์เป็นเวลา 5 ปี และสอบนักธรรมชั้นเอกได้ที่วัดป่าบ้านสามผงแห่งนี้ แล้วทำหน้าที่เป็นครูสอนนักธรรมช่วยพระอุปัชฌาย์

ปี พ.ศ.๒๔๙๙ หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ ออกเดินทางขึ้นเหนือเพื่อมาอยู่กับหลวงปู่ตื้อ อจลธมโม ที่วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ต่อมา หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ได้สร้างวัดป่าสามัคคีธรรมขึ้นซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดป่าอาจารย์ตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2509 หลวงปู่สังข์ได้กลับจากเที่ยววิเวกมาจำพรรษากับหลวงปู่ตื้อที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ ท่านยังได้พัฒนาและบูรณะวัดอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด

ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอาจารย์ตื้ออย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.2523หลังจากนั้นได้สร้างอุโบสถหนึ่งหลัง ในปี พ.ศ.2538 ได้รับพระราชสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระครูภาวนาภิรัต ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้มาจนถึงปัจจุบัน

หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ จ.เชียงใหม่ ได้ละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 65 เวลา 15.00 น. สิริอายุ 92 ปี พรรษา 72

คำสอน

“ทำบ่อยๆ เพียรบ่อยๆ สักวันมันนิ่งเอง เพราะใจมันได้รับการฝึกดีแล้ว ไปๆๆ ไปทำเอาเองเด้อ”

.

“โฮ้ย…คนสมัยนี้เนาะ อินเตอร์เน็ตมันว่าอย่างใด ก็เชื่อมันหมด ตุ๊นั้นเป็นอรหันต์ ตุ๊นี่เป็นอรหันต์ ก็พากันเชื่อหมด

ธรรมะพระพุทธเจ้ามี บ่ยอมเข้าใจ บ่เอาไปปฏิบัติ ฮ้องหาก่าพระอรหันต์”

.

“เรื่องของจิต มันไม่ได้เหมือนของกิน ไม่ได้เหมือนของใช้ ที่ให้ยืมกันได้ แบ่งกันกินได้
เรื่องของจิตนั้น มันต้องทำเอง เมื่อทำแล้วก็จะอิ่มเอง เกิดปีติเอง สุดท้ายใจมันจะเข้าถึงธรรม มันจะไม่ทุกข์ ไม่โศกเน้อ”

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า