หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม เกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2434 ณ บ้านสามง่าม หมู่ที่ 4 โยมบิดาชื่อ จันทร์ โยมมารดาชื่อ บู่ นามสกุล สามงามน้อย ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 7 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 4 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5
เมื่ออายุได้ 7 ปี ลุงของท่านซึ่งบวชอยู่ที่วัดกาหลง จังหวัดสมุทรสาคร มีชื่อว่า หลวงลุงแดง เป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในขณะนั้นรูปหนึ่ง ได้ไปเยี่ยมญาติที่บ้านสามง่าม ได้พบหลานชายจึงได้ชวนให้ไปอยู่ด้วยกันที่วัดกาหลงเพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือ ธรรมะ และเวทมนต์คาถา เป็นเวลา 3 ปี จนสามารถเขียนอ่านได้เป็นอย่างดี จึงได้กลับมาบ้านเกิด
หลวงลุงแดงของหลวงพ่อเต๋ ท่านเป็นผู้สนใจในกา รทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ท่านเห็นว่าบ้านสามง่าม ควรจะมีวัดวาอารามสำห รับให้พระภิกษุและชาวบ้านประกอบกิจทางพระพุทธศาสนา จึงได้ชักชวนหลานชายไปสร้างวัดขึ้นที่บ้านดอนตูม ห่างจากบ้านสามง่ามประมาณ 3 กิโลเมตร
เมื่อหลวงพ่อเต๋ มีอายุได้ 15 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่กับหลวงลุงแดง ร่วมจัดสร้างวัดใหม่ไปพร้อมกัน รวมทั้งได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมเพิ่มเติมจากหลวงลุงแดง
ประวัติหลวงลุงแดงท่านเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมีความเชี่ยวชาญพุทธาคมทั้งทางด้านเมตตามหานิยมและอยู่ยงคงกระพันชาตรี มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพนับถือมากมาย อีกทั้งหลวงพ่อเต๋ มีศักดิ์เป็นหลานของท่าน จึงได้รับถ่ายทอดวิชามาอย่างครบถ้วนโดยไม่มีการปิดบัง อำพราง
พ.ศ. 2454 ท่านมีอายุได้ 21 ปี จึงได้ทำการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมี พระครูอุตตรการบดี (หลวงพ่อทา) วัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์เทศ วัดทุ่งผักกูด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการจอม วัดลำเหย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า คงทอง (ภายหลังเปลี่ยนเป็น คงสุวัณโณ แต่ชาวบ้านยังคงเรียกติดปากว่า คงทอง
พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเต๋ คือหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก เป็นพระเถระผู้ทรงเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังมากในฐานะพระเกจิอาจารย์ที่มีพุทธาคมเข้มขลังในขณะนั้น หลวงพ่อเต๋ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางธรรม สมถกัมมัฏฐาน ตลอดจนรับการสืบทอดด้านพุทธาคมต่าง ๆ
ต่อมาไม่นาน หลวงลุงแดง มรณภาพลงที่วัดกาหลง สมุทรสาคร ก่อนมรณภาพท่านได้ฝากวัดสามง่ามให้หลวงพ่อเต๋ดูแล
หลวงพ่อเต๋ เริ่มออกธุดงค์ระหว่าง พ.ศ. 2455 2472 เป็นเวลา 17 ปี รวมทั้งศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติม นอกจากที่ได้ศึกษาจาก หลวงลุงแดง และ หลวงพ่อทา หลังจากหลวงพ่อทา มรณภาพแล้ว ท่านได้เดินทางไปขอศึกษาวิชาเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง
จากนั้นออกธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ และได้ศึกษาวิชาเพิ่มเติมกับพระอาจารย์อื่นทั้งพระสงฆ์และฆราวาส อาทิ หลวงพ่อกอน วัดบ่อตะกั่ว นอกจากนี้ท่านยังเดินทางไปเรียนกับพระอาจารย์ทางจังหวัดพิจิตร ยังมีอีกหลายรูปในขณะที่เดินธุดงค์ รวมทั้งอาจารย์ฆราวาส ท่านเป็นชาวเขมร เคยเป็นอดีตแม่ทัพเขมร หลวงพ่อเต๋ได้พบอาจารย์ท่านนี้ที่เขาตะลุง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอาจารย์ที่หลวงพ่อเต๋ เคารพนับถือมาก ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ท่านจะ ทำการไหว้ครูเขมรมิได้ขาด
ภายหลังท่านกลับมาพำนักที่วัดสามง่ามได้ 3 ปี ท่านทำก ารสร้างวัดสามง่ามต่อจากหลวงลุงแดงที่ฝากฝังไว้ให้ท่านสร้างต่อก่อนจะมรณภาพ สมัยก่อน อุปกรณ์การก่อสร้างต่าง ๆ หาได้ยากมาก เรื่องไม้ที่จะนำมาสร้างวัดต้องเข้าไปเอาในป่าลึก กว่าจะได้ไม้มาแต่ละเที่ยวยากลำบาก
การออกไปตัดไม้แต่ละเที่ยว ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 3 เดือน และการนอนป่าหลวงพ่อเต๋ ก็มักจะใช้การตัดไม้ใหญ่เป็นที่พำนักอาศัย การเดินทางไปตามถิ่นต่าง ๆ ก็เพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ท่านจึงไม่กลัวต่อภยันตรายทั้งเสือ ช้าง อันเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้าย ตลอดจนสิ่งแวดล้อมภายในป่าที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ
ตลอดเวลา 15 ปี ในการตัดไม้มาก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดของท่าน บางครั้งถึงกับอดน้ำ นับว่าเป็นความอุตสาหะมานะอันแรงกล้าอย่างประเสริฐสุดหาที่เปรียบมิได้
ในการพัฒนา หลวงพ่อเต๋ เป็นนักพัฒนาหาตัวจับยาก สร้างสถานีอนามัย บ้านพักนายแพทย์และพยาบาล โรงเรียนประถมและมัธยม สถานีตำรวจ ถนนหนทาง ขุดบ่อน้ำบาดาล สร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง
หลวงพ่อเต๋ เป็นผู้กอปรด้วยความเมตตาปรานี ท่านจะให้ความรักความเมตตาแก่ศิษย์ทุกคนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง นอกจากนี้ท่านยังให้ความเมตตาต่อสัตว์เลี้ยง ได้แก่ วัว ชะนี นก สุนัข แมว ไก่ เป็นต้น ไม่ว่านก สุนัข ไก่ และแมว ก่อนท่านจะฉันภัตตาหาร ท่านจะต้องให้ข้าวสัตว์เหล่านี้เป็นนิจสิน
พ.ศ. 2475 กรรมการสงฆ์จังหวัดโดย พระเทพเจติยาจารย์ วัดเสน่หา เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ได้พิจารณาแต่งตั้งให้ หลวงพ่อเต๋ เป็นเจ้าอาวาสวัดสามง่าม
พ.ศ. 2476 แต่งตั้งให้ท่านรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบล มีวัดที่ขึ้นอยู่ในความปกครอง 5 วัด คือ วัดสามง่าม วัดลำลูกบัว วัดแหลมมะเกลือ วัดทุ่งสีหลง และวัดตะโกสูง
การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อเต๋ ท่านสร้างไว้หลายแบบมาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทั้งแบบพระเนื้อดิน เนื้อผง เนื้อว่าน เหรียญรูปเหมือน พระกริ่ง รูปหล่อ เหรียญหล่อ และเครื่องรางของขลัง ตะกรุดหนังเสือ ตะกรุดสามห่วง สีผึ้ง เป็นต้น แต่ละอย่างล้วนมีอภินิหารเป็นที่ประจักษ์และเล่าขานกันมาทุกวันนี้