ปาฏิหาริย์หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่หลายคนอาจไม่เคยทราบ

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ แห่งวัดดอยแม่ปั่ง เชียงใหม่ เป็นพระอริยสงฆ์ที่เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่งรูปหนึ่ง ถึงแม้ท่านจะละสังขารไปนับตั้งแต่ พ.ศ.2528 แต่จริยาวัตรอันงดงาม และธรรมโอวาทของหลวงปู่ยังคงอยู่ในความทรง จำของพุทธศาสนิกชนตลอดมา

หลวงปู่แหวนเกิดปี พ.ศ.2430 จากครอบครัวช่างตีเหล็ก จังหวัดเลย เดิมท่านชื่อญาน ต่อมาเมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 9 ปี จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สามเณรแหวน

เหตุที่ท่านบวช เพราะเมื่ออายุได้ 5 ปี มารดาได้ล้มป่วยลง และสั่งเสียไว้ก่อนถึงแก่กรรมว่า ไม่ยินดีในทรัพย์สมบัติ ไม่ว่าจะมากมายสักเพียงใด แต่จะยินดียิ่ง หากลูกบวชและไม่สึกจนตลอดชีวิต ท่านก็รับปาก เป็นเหมือนคำสัญญาที่กำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตของหลวงปู่

และเมื่ออายุครบ 20 ปี ในปี พ.ศ.2450 ท่านจึงอุปสมบทเป็นภิกษุ

หลวงปู่แหวนมีความเลื่อมใสในท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และมีความมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่น

แต่ในขณะนั้น ท่านได้พบกับพระธุดงค์หนุ่มรูปหนึ่ง มีความประสงค์และปฏิปทาคล้ายกัน ถูกอัธยาศัยกัน ซึ่งต่อมา ท่านก็เป็นพระธุดงค์สหธรรมิกองค์สำคัญ นั่นคือ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

ในคราวนั้น ทั้งสองท่านยังเป็นพระหนุ่ม จึงเห็นพ้องกันว่า ควรจาริกธุดงค์เพื่อบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีไปตามความรู้ด้านกรรมฐานเสียก่อน หากมีโอกาสจึงค่อยไปกราบและฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นในภายหลัง

หลังจากได้เดินทางไปพบพระอาจารย์มั่นแล้ว ก็ได้รับคำสอนว่าให้วางความรู้ไว้ก่อน แล้วให้มุ่งภาวนา ซึ่งเป็นคำสอนที่หลวงปู่แหวนปีติยินดีอย่างยิ่ง เพราะตรงกับความตั้งใจของท่านมาแต่ต้น

ในเวลาต่อมา หลวงปู่แหวนและหลวงปู่ตื้อได้ออกจาริกธุดงค์ไปทางฝั่งลาว และเมื่อกลับถึงฝั่งไทยแล้ว ท่านหารือกันว่า ภาคเหนือยังเป็นสถานที่ที่ยังไม่เคยไปมาก่อน จึงตกลงเดินทางมุ่งสู่ภาคเหนือ

โดยทั้งสองรูปได้แยกกันที่จังหวัดลำปาง โดยนัดหมายไปพบกันอีกครั้งเพื่อกราบหลวงปู่มั่นที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่

หลวงปู่ตื้อได้เดินทางขึ้นไปทางอำเภอเถิน

ส่วนหลวงปู่แหวนเดินธุดงค์เข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่เพียงรูปเดียว

ณ วัดเจดีย์หลวง หลวงปู่แหวนได้เปลี่ยนจากมหานิกายเป็นธรรมยุต ด้วยพระอาจารย์เห็นว่า ท่านเป็นพระที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ มีวิริยอุตสาหะ มีความเพียร มีข้อวัตรปฏิบัติดี โดยมีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์

โดยหลวงปู่ตื้อที่เดินทางมาสมทบในภายหลัง ก็ได้เปลี่ยนเป็นธรรมยุตเช่นเดียวกัน

หลังจากนั้นท่านทั้งสองรูปจึงได้ออกจาริกธุดงค์ด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง

กล่าวกันว่า หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ตื้อท่องธุดงค์ไปมากที่สุดในบรรดาพระธุดงค์ทั้งหมด

ถ้ารวมเวลาที่หลวงปู่ทั้งสองรูปเดินธุดงค์แล้วก็ร่วม 50 ปี เท่ากับค่อนชีวิตบรรพชิตของท่าน ทำให้เกิดศิษยานุศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านกระจายกันอยู่ทั้งในและต่างประเทศ

หลวงปู่แหวนจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านปง อำเภอแม่แตง เชียงใหม่ ด้วยเห็นว่าภูมิอากาศทางภาคเหนือถูกกับธาตุขันธุ์ ภาวนาจิตรวมลงสู่ฐานได้เร็ว เป็นสัปปายะ ท่านจึงตั้งใจว่าจะจำพรรษาอยู่ที่นี่ไปตลอด

แต่ต่อมาพระอาจารย์หนู สุจิตโต และชาวบ้าน เห็นพ้องกันว่า หลวงปู่แหวนมีอายุ 75 ปีแล้ว ในยามอาพาธ วัดป่าบ้านปงไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่เป็นอุปัฏฐากดูแล จึงขอนิมนต์ท่านมาจำพรรษาที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ แทน

หลวงปู่แหวนจึงจำพรรษาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋ง จนมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2528 สิริอายุได้ 98 ปี 78 พรรษา

ด้านปาฏิหาริย์ของหลวงปู่แหวนนั้น เล่ากันว่า มีทหารอากาศผู้หนึ่งกำลังขับเครื่องบินฝึกซ้อม ขณะที่อยู่กลางอากาศก็พบร่างพระอริยสงฆ์ผู้หนึ่งลอยอยู่บนก้อนเมฆ และออกเสาะหา จึงทราบภายหลังว่า พระรูปที่เห็นนั้นคือหลวงปู่แหวน

เมื่อคราวที่หลวงปู่แหวนมีอายุครบ 90 ปี ศิษยานุศิษย์และประชาชนชาวเชียงใหม่ได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสร้างอาคารสําหรับรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เมื่อสร้างเสร็จได้ให้อาคารดังกล่าวชื่อว่า สุจิณโณ มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคต่างๆ มากกว่าปีละหนึ่งล้านคน

แม้ว่าหลวงปู่แหวน สุจิณโณ จะละสังขารไปเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่คติธรรมคำสอนของท่านนั้น เป็นธรรมโอวาทล้ำค่า ที่ยังส่องสว่างอยู่กลางใจของชาวพุทธ ที่ได้น้อมนำมาปฏิบัติอยู่ตลอดมา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า