ตามประวัติ หลวงพ่อเฮง ท่านบวชตั้งแต่เป็นสามเณรที่พระตะบอง เล่าเรียนวิชาอาคมต่างๆ และมีความเพียรเป็นเลิศชอบแสวงหาความสงบชอบการธุดงค์แบบรุกขมูลไปตามท้องถิ่นต่างๆ
ร่ำเรียนวิชาอาคมและยังเรียนบาลีอีกด้วย โดยการธุดงค์ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดวิชาให้กันและกันกับพระภิกษุสหายธุดงค์ โดยเฉพาะท่านพูดภาษาฝรั่งเศสเก่งมาก เพราะว่าสมัยก่อนนั้นประเทศกัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสจึงต้องเรียนและพูดภาษาฝรั่งเศส
หลวงพ่อเฮง ท่านได้เดินธุดงค์รุกขมูลมาจากพระตะบองมาที่ดินแดนเมืองชายทะเลเล็กๆ ที่เรียกว่า “มหาชัย” ที่ในสมัยนั้น
ขณะเดินธุดงค์รุกขมูลมาจากพระตะบองตอนนั้นท่านมีอายุประมาณ ๓๐ ปี โดยได้มาขอพักที่วัดและอยู่จำพรรษาซึ่งทาง (หลวงตาแฉ่ง) เจ้าอาวาสวัดบ้านขอมก็ไม่ขัดข้องและชาวบ้านในละแวกวัดให้ความเคารพเป็นอย่างดี หลวงพ่อเฮงได้หัดพูดภาษาไทยกับเด็กวัดบ้าง หลวงตาแฉ่งบ้าง จนพูดภาษาไทยได้เป็นอย่างดี และท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในศีลาจารวัตร ฉันอาหารมื้อเดียว
“วัดโสภณาราม” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “วัดบ้านขอม” ตั้งอยู่ที่ ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร วัดนี้สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นมากว่า ๒๐๐ ปีแล้ว
แต่ประวัติผู้ก่อตั้งไม่ชัดเจนโดยเล่าสืบต่อกันมาว่า “พระอธิการสะ” เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกและมีเจ้าอาวาสสืบต่ออีกหลายองค์ จนถึงยุคหลวงตาแฉ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น วัดบ้านขอมมีสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมมาก
หลวงพ่อเฮงจำพรรษาที่วัดบ้านขอม ในฐานะพระลูกวัดอยู่หลายปีแต่ด้วยว่าท่านเป็นพระผู้แก่กล้าด้วยวิชาอาคมและเคร่งครัดในศีลปฏิบัติ เมื่อหลวงตาแฉ่งมรณภาพ ด้วยการเกลี้ยกล่อมของ พระครูมหาชัยบริรักษ์ (หลวงพ่อเชย) เจ้าอาวาสวัดเจษฎาราม และ (หลวงพ่อซด) วัดคอกกระบือ หลวงพ่อเฮงจึงรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านขอม สร้างความยินดีให้แก่ชาวบ้านย่านบ้านขอมเป็นอย่างยิ่ง
สมัยนั้นชาวบ้านขอม ชาวมหาชัยและใกล้เคียงไปเคารพกราบไหว้ท่านมิได้ขาด หลวงพ่อเฮง นับได้ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ลือชื่อในด้านขมังเวทรูปหนึ่งของจังหวัดในทำเนียบพระเกจิอาจารย์ชั้นแนวหน้าของจังหวัด เช่น (หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ), (หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน), (หลวงปู่แก้ว วัดช่องลม) เป็นต้น โดยเฉพาะเถ้าแก่เรือประมงเวลาต่อเรือเสร็จใหม่ๆ จะต้องให้ หลวงพ่อเฮง เจิมทุกลำเพื่อความเป็นสิริมงคล
มีความเชื่อว่ามนต์คาถาที่บริกรรม ภาวนานั้นสุดยอดของความศักดิ์สิทธิ์ เรือลำนั้นจะโชคดี ทำมาค้าขึ้น มีแต่โชคลาภและเฮงตลอดปี ใครไปให้ท่านเป่ากระหม่อมจะประสบแต่ความโชคดี ค้าง่ายขายคล่อง หากินได้ไม่ฝืดเคือง
เถ้าแก่เรือประมงบาง ลำไ ด้นำพ ระของหลวงพ่อบูชาไว้ที่เสากระโดงเรือก็มีวัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮง ผู้เขียนขอบอกว่าบูชาไว้แล้วดีสุดๆ ในด้านโภคทรัพย์และเมตตามหานิยม วัตถุมงคลของท่านนั้น พุทธคุณด้านแคล้วคลาดปลอดภัยก็ไม่เป็นสองรองใคร
ท่านจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาครั้งแรกในช่วงสงครามอินโดจีน ช่วงนั้นทางราชการได้เกณฑ์เอาลูกชาวบ้านมหาชัย และชาวบ้านขอมไปเป็นทหารจำนวนมาก หลวงพ่อท่านเป็นห่วงจึงได้จัดทำผ้ายันต์ เสื้อยันต์ ลงคาถาอาคมแจกแก่ผู้ต้องไปออกรบ ผ้ายันต์และเสื้อยันต์ในครั้งนั้นพิธีการพิถีพิถันมากโดยท่านปลุกเสกเดี่ยวอยู่นานจนมั่นใจ จึงได้แจกจ่ายให้บูชาเป็นที่เล่าลือโจษจันกันมาก ในเรื่องอยู่ยงคงกระพันชาตรี
หลังจากนั้นประมาณ ๑๐ ปี ท่านจึงทำวัตถุมงคลเป็นเหรียญรุ่นแรกคือ “เหรียญสี่เหลี่ยมเนื้อทองแดงผสม” ด้านหน้าเป็นรูป พระประ ธาน มีรัศมีรูปไข่ครอบประทับนั่งบนกลีบบัว ๒ ชั้น เหรียญมีอักษรขอม
ด้านหลังเป็นยันต์ และเหรียญพิมพ์น้ำเต้าเนื้อทองแดง ด้านหน้าเป็นรูปพระประธาน ด้านหลังเป็นยันต์ปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้มีการจัดสร้าง “พระกลีบบัวเนื้อเมฆพัด” โดยหลวงพ่อจัดการเองทั้งหมด
ไม่มีใครทราบว่าท่านไปให้ใครจัดทำ โดยในการจัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นนี้สันนิษฐานว่าท่านอาจจะสร้างก่อนปี พ.ศ.๒๔๙๗ แล้วได้นำมาปลุกเสกเดี่ยว อย่างเงียบๆ จนแน่ใจว่าดีแล้วจึงนำออกมาแจกจ่าย ดีทางแคล้วคลาดและอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม พระกลีบบัวเมฆพัดรุ่นนี้ สนนราคาหลักพันปลาย ถือว่าไม่แพง ถ้าเปรียบเทียบกับพุทธานุภาพ
ถึงปี พ.ศ.๒๔๙๙ หลวงพ่อเฮงได้สร้าง “พระสมเด็จเนื้อผงรุ่นแรก” ที่โด่งดังในด้านพุทธคุณ ราคาเล่นหาราคาสูงองค์ที่สวยๆ ราคาเกือบแสน มี ๒ สี คือ สีขาวยันต์ลึก และสีแดงยันต์ตื้น (ที่ราคาแพงคือสีขาว สีแดงราคาถูกกว่า) พระสมเด็จรุ่นแรกนี้ถือว่า เป็นรุ่นสุดท้ายของหลวงพ่อ เพราะว่าท่านได้หยุดสร้างไม่ทำอีกเลย จนท่านได้มรณภาพลง
หลวงพ่อเฮง ท่านจากไปเหลือไว้แต่ชื่อให้สาธุชนรุ่นแรกได้รับทราบถึงคุณงามความดีเมื่อครั้งที่มีชีวิตอยู่ และทางวัดได้จัดสร้างรูปหล่อของหลวงพ่อเพื่อกราบไหว้ขอพร โดยประดิษฐานอยู่ในศาลาซึ่งจะมีผู้นับถือหลวงพ่อมาขอพรและขอโชคลาภมิได้ขาด ทางวัดได้ “พระครูสาครธรรมโสภณ” (หลวงพ่อสง่า) มาเป็นเจ้าอาวาส โดยท่านได้พัฒนาวัดบ้านขอม จัดระเบียบหมู่กุฏิสงฆ์ ก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ และได้จัดงานผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิต
หลวงพ่อเฮงท่านได้มรณะภาพลง เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ได้สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่ชาวบ้านขอมและชาวมหาชัยเป็นอย่างยิ่ง