จากการสืบค้นประวัติไม่ปรากฏฉายานามทางสงฆ์แต่อย่างใด มีความเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง วิทยาคมเข้มขลัง
เป็นศิษย์สืบสายธรรมจากหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร
มีนามเดิม พิธ ขมินทกูล เกิดเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2418 ตรงกับวันอังคาร แรม 5 คํ่าเดือน 4 ปีกุน ที่บ้านบางเพียร หมู่ที่ 4 ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร เป็นบุตรของขุนหิรัญสมบัติ (ประดิษฐ์ ขมินทกูล) มารดาชื่อ นางปุย
อายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อปีพ.ศ.2440 ที่พัทธสีมาวัดบึงตะโกน อ.เมือง จ.พิจิตร โดยมีพระครูธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม)
เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาวิจิตร วัดฆะมัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พลอย วัดราชช้างขวัญ เป็นอนุสาวนาจารย์
ได้ไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ เพื่อศึกษาหาความรู้ เพื่อนำ ความรู้ที่ได้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้า อาทิ วัดบางมูลนาก อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร, วัดท่าถนน
ซึ่งเป็นวัดอยู่ในตลาดอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ วัดหัวดง อ.เมือง จ.พิจิตร โดยเฉพาะวัดหัวดง หลวงพ่อพิธจำพรรษาอยู่นานที่สุด
อีกทั้งยังมีวัดวังปราบ จังหวัดนครสวรรค์ ฝึกวิชารักษาฝีในท้องกับพระอาจารย์สิน วัดบางคลาน อ.โพทะเล
เพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน และได้เรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานจากหลวงพ่อเงิน ตลอดจนความรู้ต่างๆ จนเป็นที่แตกฉาน จึงได้มาจำพรรษาที่วัดฆะมัง บ้านเกิด
นอกจากจะได้ศึกษาเล่าเรียนจากพระเกจิอาจารย์ต่างๆ แล้วหลวงพ่อพิธยังได้เล่าเรียนวิชาความรู้จากปู่ของท่านอีกด้วย นับว่าเป็นผู้เสาะแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง
เป็นพระที่มักน้อย ถือสันโดษ และไม่ยอมสะสมเงินทอง จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างถาวรวัตถุเพื่อ บำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป
หลวงพ่อพิธจึงได้สร้างอุโบสถถึง 5 หลัง คือ วัดฆะมัง, วัดดงป่าคำใต้ (วัดใหม่คำวัน), วัดบึงตะโกน, วัดสามขา และวัดหัวดง
ด้วยความที่เป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการรับฟังธรรมและขอวัตถุมงคลไว้เป็นที่ระลึก
อาทิ ภาพถ่ายหลวงพ่อพิธ เป็นภาพเล็กๆ ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นภาพหลวงพ่อเงิน (พระอาจารย์ของหลวงพ่อพิธ), ตะกรุดมหารูด, ขี้ผึ้งวิเศษ
อย่างไรก็ตาม เมื่อไปนมัสการท่านและขอสิ่งที่เป็นที่ระลึก หลวงพ่อพิธจะเตือนเสมอว่า “สิ่งที่มอบให้นี้เป็นประหนึ่งว่าเราได้มาพบหน้าตากัน มีความเคารพต่อกันดุจญาติพี่น้องและสิ่งเหล่านี้ขอให้เข้าใจว่าเป็นอนุสรณ์ต่อกันเมื่ออยู่ห่างไกล
สิ่งหนึ่งที่ควรใฝ่ใจมากๆ คือ
1.จงอย่าประมาท
2.คุณพระพุทธคุณ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดา คุณมารดา
3.จงมีศีล มีสัตย์ ภัยพิบัติจะมาไม่ถึงเพราะมี อำนาจทิพย์คอยรักษาคุ้มครองอยู่ และ
4.เมื่อได้สิ่งของอันเป็นที่ระลึกแล้วควรมีปัญญา คือ อย่าเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับทุกข์
ช่วงบั้นปลายชีวิตสังขารเริ่มโรย หลวงพ่อพิธตรากตรำต่อการ ทำงานและหน้าที่พระคณาจารย์ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้เริ่มมีอาการอาพาธหนัก สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง
สุดท้ายหลวงพ่อพิธมรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2488 ที่วัดฆะมัง สิริอายุ 70 ปี
ทั้งนี้ หลังจากประชุมเพลิงหลวงพ่อพิธมีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น คือ ดวงตาทั้งสองของท่านไฟเผาไม่ไหม้ ชาวบ้านจึงเรียกขานท่านว่า “หลวงพ่อพิธตาไฟ”
คณะกรรมการผู้เก็บรักษาดวงตา ซึ่งไม่ไหม้ไฟของหลวงพ่อพิธ เห็นสมควรบรรจุดวงตาของท่านไว้ในรูปเหมือนเท่าองค์จริงหลวงพ่อพิธ
เพื่อเป็นที่สักการะ ที่วัดฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร ตราบจนทุกวันนี้ เกียรติคุณอันสูงยิ่งของหลวงพ่อพิธ ทำให้สาธุชนรุ่นหลังยังคงระลึกถึงท่าน มีความศรัทธาอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย