“หลวงพ่อขัน อินทปัญโญ” วัดนกกระจาบ ต.วัดนก อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าแห่งอำเภอบางบาล มีชื่อเสียงโด่งดังมากในเรื่องวิทยาคม
วัตถุมงคลของท่านที่ได้รับความนิยมมีหลายชนิด อาทิ เชือกคาดเอว เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ ส่วนของพระเครื่องที่นิยม ได้แก่ เหรียญเสมาหูเชื่อม ปี 2480 มีเนื้อเงิน และทองแดง เหรียญหล่อก้นแมลงสาบ เนื้อสัมฤทธิ์ เป็นต้น
อัตโนประวัติ หลวงพ่อขัน อินทปัญโญ เกิดในสกุล คงสุขี เมื่อปี พ.ศ.2415 ตรงกับขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ที่ ต.วัดยม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายชื่น และนางส่วน คงสุขี เป็นบุตรชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน
ในปีที่ ด.ช.ขัน ถือกำเนิด ครอบครัวมีฐานะดีขึ้น ทำกิจการงานประสบผลสำเร็จ ทำให้โยมบิดา-มารดา รักใคร่เอ็นดูบุตรชายคนโตยิ่ง
เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดวังตะโก จ.พระนครศรีอยุธยา ตรงกับ พ.ศ.2435 โดยมีพระพุทธวิหารโสภณ (อ่ำ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ส่วนนามพระอุปัชฌาย์ ไม่ทราบชัด ได้รับฉายาว่า “อินทปัญโญ”
ภายหลังอุปสมบทได้อยู่จำพรรษา 3 พรรษา ท่านออกธุดงค์ ปฏิบัติธรรมะ ศึกษาเพิ่มเติมจากพระธุดงค์ที่อยู่ในป่าลึก เมื่อท่านเดินทางกลับ ปรากฏว่า วัดญาณเสนว่างสมภาร ชาวบ้านพร้อมใจกันนิมนต์ท่านไปเป็นสมภารได้ 3 พรรษา และย้ายมาอยู่จำพรรษาวัดนกกระจาบ
และที่วัดนกกระจาบนี้เอง ชื่อเสียงของท่านโด่งดังขจรขจายไปทั่ว การปฏิบัติและปฏิปทาของท่าน น่าเลื่อมใสเคร่งในธรรมวินัย ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ ยึดสันโดษ หลวงพ่อขัน ได้มีโอกาสไปกราบและขอฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่ออํ่า วัดวงฆ้อง และยังเป็นศิษย์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
จนมีโอกาสได้รู้จักและคุ้นเคยกับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นอย่างดี ในฐานะศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน
หลวงพ่อขัน เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือมาก ใครได้สักยันต์กับท่านและทำตามข้อกำหนดของท่าน จะมีแต่ปลอดภัยแคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพัน จนได้รับการกล่าวขวัญจากชาวกรุงศรีอยุธยาว่า “ใครที่สักยันต์และบูชาเหรียญของหลวงพ่อขัน จะถูกฟันถูกตีก็ไม่ต้องกลัว”
ครั้นหนึ่ง ลูกศิษย์ของหลวงพ่อขัน ถูกนักเลงถิ่นอื่นดักทำร้ายทุบตี แต่ปรากฏว่า ตีเท่าไรก็ไม่แตก ไม่เจ็บ ไม่บอบช้ำ สร้างความประหลาดใจให้กับนักเลงถิ่นอื่นเป็นอย่างยิ่ง เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ลูกศิษย์ของหลวงพ่อขัน นิยมให้หลวงพ่อสักยันต์บ้าง ลงกระหม่อมบ้าง ปรากฏในทางคงกระพันชาตรีเป็นเยี่ยม
หลวงพ่อขัน เป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยชอบเดินธุดงค์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามป่าดงยึดสันโดษ ไม่สะสมทรัพย์ ทำให้มีสาธุชนให้ความเลื่อมใสศรัทธามาก
สำหรับวัตถุนิยมของหลวงพ่อขันที่ได้รับความนิยมสูง คือ เหรียญรูปตัวท่าน เป็นเหรียญเสมานั่งเต็มองค์ ด้านล่างมีข้อความว่า “พระอาจารย์ขัน” หูเชื่อม เป็นเหรียญที่สวยงามและมีราคาเช่าบูชากันแพงมาก
ด้านวัตถุมงคลเนื้อดินเผาที่รู้จักกันแพร่หลายเป็นที่โด่งดังทั่วไป คือ พระเนื้อดินเผาพิมพ์แซยิดและพิมพ์นางพญาฐานผ้าทิพย์
โดยไม่ทราบปีที่สร้างแน่นอนเช่นเดียวกับวัตถุมงคลอื่นๆ ยกเว้นเหรียญรุ่นแรกรุ่นเดียวที่ทราบ เพราะบนเหรียญรุ่นแรกนี้ จะมีระบุปีที่สร้างแน่นอน คือ พ.ศ.2480 แต่มีหลักฐานที่บันทึกไว้ว่าสร้างในช่วงเดียวกันกับเหรียญรุ่นแรก พระดินเผานี้ เป็นพระที่มีพุทธศิลป์สวยงามมาก มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
หลวงพ่อขัน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรกับพุทธศาสนิกชนทั่วไป กระทั่งถึงปี พ.ศ.2486 ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยสติสัมปชัญญะที่ครบบริบูรณ์ สิริอายุได้ 72 ปี พรรษาที่ 52