ตามรอยตำนาน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม

“ช้างเผือกกินหนังสือ”

เล่ากันว่าคืนก่อนที่สามเณรโตจะย้ายไปอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม พระอาจารย์รูปหนึ่ง (เข้าใจว่าเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นาค) ได้ฝันว่ามีช้างเผือกตัวหนึ่งเข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านจนหมด

ชะรอยว่า จะมีคนนำเด็กที่เฉลียวฉลาดมีบุญมาฝากตัวเป็นศิษย์ รุ่งขึ้นท่านเจ้าคุณอรัญญิก ก็นำสามเณรโตมาถวายตัวเป็นศิษย์

“เมตตามหาโจร”

คราวหนึ่งขณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต กำลังจำวัดอยู่ในเวลาดึกสงัด มีขโมยแอบย่องเข้ามาใต้ถุนกุฏิ เอื้อมมือขึ้นทางช่อง หวังหยิบเอาตะเกียงลานที่วางอยู่ทางปลายเท้าของท่าน แต่หยิบไม่ถึง

เจ้าประคุณสมเด็จฯ รู้ตัวตื่นขึ้นพอดีท่านไม่ได้ร้องไล่ แต่กลับเอาเท้าเขี่ยตะเกียงให้ อีกคราวตอนท่านกลับจากแสดงธรรมเทศนาที่ต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้เครื่องกัณฑ์เทศน์เป็นเสื่อ หมอนระหว่างจอดเรือพักนอนตอนกลางคืน มีขโมยลอยเรือเข้ามาเงียบๆ

คว้าเอาเสื่อไปเจ้าประคุณเฝ้าดูอยู่ในความมืด จึงพูดขึ้นเรียบๆ ว่า “เอาหมอนไปด้วยสิจ๊ะ” พวกโจรตกใจรีบจ้ำเรือหนี ท่านก็โยนหมอนตามไปให้

“ขายผ้า (ไตรจีวร) เอาหน้ารอด”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดําริให้พระอารามหลวง ริมน้ำแต่งเรือเข้าประกวด และพระองค์ก็เสด็จฯ ไป ทอดพระเนตรที่ท่าราชวรดิฐ (ตำหนักแพ) วัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา

ต่างแข่งกันประดับประดาเรืออย่างวิจิตรมีแต่เรือของวัดระฆัง ที่เป็นเรือสำปั้นเก่าและมีเพียงเณรพายหัวท้าย ตรงกลางมีลิงตัวหนึ่งผูกไว้กับหลัก แขวนป้ายที่คอว่า “ขายผ้าเอาหน้ารอด” พอพระองค์ทราบว่าเป็นเรือของ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ก็ตรัสขึ้นว่า “เขาไม่เล่นกับเรา”

ต่อมามีข้าราชบริพารไปถามความหมายของคำว่า ขายผ้าเอาหน้ารอด สมเด็จพระพุฒาจารย์โต อรรถาธิบายว่า “พระสมณะย่อมหาสมบัติได้ยาก นอกจากมีผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย ซึ่งก็มีเพียงเครื่องอุปโภคบริโภค ย่อมไม่มีทุนทรัพย์หรือสิ่งใดมาแลก เปลี่ยนลงทุนซื้อหาสิ่งต่างๆ ที่จะนำมาประดับประดาเรือให้สวยงามได้

ถ้าจะทำเช่นนี้ได้ต้องนำเอาผ้าไตรจีวรไปขายเสีย เพื่อเอาเงินมาทำทุนประดับเรือ จึงเท่ากับยอมขายผ้าเอาหน้ารอดไว้ก่อน ถึงแม้ว่า ผ้าเป็นสิ่งจําเป็นจะต้องเอาไว้ใช้ห่มห่อสังขารกันร้อนหนาวก็ตาม”

หนีรัชกาลที่ 4 ด้วยมนต์นารายณ์แปลงรูป

หลังจากพระมหาโตออกธุดงค์หนีหายไปหลายปี รัชกาลที่4 ทรงระลึกถึงและมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าเมืองทั่วพระราชอาณาจักรหาตัวพระมหาโต นำส่งเมืองหลวงให้ได้ พระมหาโตลองวิชาเปลี่ยนหน้าเรียกว่า นารายณ์แปลงรูป ทําให้คนรู้จักกลับจําไม่ได้ ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่า การกระทําเช่นนั้น ทำให้พระรูปอื่นต้องถูกจับไปอดเช้าบ้าง อดเพลบ้าง ตากแดดตากฝน เพราะเข้าใจว่าเป็นท่านท่านจึงออกแสดงตนให้คนที่บ้านไผ่รู้จัก และนำตัวท่านส่งเข้าพระนคร

บุญไม่เต็มบาทจากยายแฟงหัวหน้าซ่อง

ยายแฟงมีอาชีพเป็นหัวหน้าซ่องนครโสเภณี ต่อมาคิดอยากสร้างกุศลจึงได้สร้างวัดใหม่ยายแฟงขึ้นที่ตําบลป้อมปราบศัตรูพ่าย ฝั่งพระนครจากนั้นนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปเทศน์ตอนหนึ่งท่านเทศน์ว่า ”ยายแฟงสร้างวัดครั้งนี้ได้ผลานิสงส์พร่องไม่เต็มหน่วย เพราะเป็นเงินจากนํ้าพักนํ้าแรงคนอื่นที่ไม่ชอบด้วยธรรมนิยมถ้าเปรียบอานิสงส์ด้วยเงินเหรียญบาท ยายแฟงก็ได้ไม่เต็มบาท” ปัจจุบันวัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดคณิกาผล

สามเณรโตปราบจระเข้

แต่ครั้งยังเป็นสามเณรโต บิดามารดาได้พาล่องเรือ เพื่อนําไปฝากเรียนปริยัติธรรมกับพระครูที่หัวเมืองไชยนาทบุรี ระหว่างจอดเรืออยู่ที่ท่าในเวลากลางคืน มีจระเข้ตัวหนึ่งเสือกตัวขึ้นมาบนเรือหวังคาบคนไปกิน สามเณรโตลุกขึ้นนั่งภาวนาอยู่ในประทุนเรือ ว่ากันว่าไม่ทันไรจระเข้ตัวนั้นก็อ่อนแรง อ้าปากไม่ออก ไม่ฟาดหางทําอันตรายคนบนเรือ

พูดดีแม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พูดจ๊ะจ๋ากับทุกคน แม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน คราวหนึ่งสุนัขนอนขวางทางเดินของท่านอยู่ ท่านพูดกับสุนัขตัวนั้นว่า “โยมจ๋า ฉันขอไปทีจ้ะ” เมื่อมีคนถามว่า ทําไมท่านจึงทําอย่างนั้น ท่านตอบว่า “ฉันไม่รู้ได้ว่าสุนัขนี้เคยเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ เพราะในเรื่องชาดกกล่าวว่าในกาลครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุนัข”

ฝากคำพยากรณ์ชะตาเมือง

หลังสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี สิ้นชีพิตักษัยในคืนวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อนายอาญาราช (อิ่ม) ผู้เป็นศิษย์ก้นกุฏิ เข้าไปเก็บในกุฏิก็ได้พบกระดาษชิ้นหนึ่งเขียนด้วยลายมือท่านเจ้าประคุณฯ เป็นคําทํานายชะตาเมืองในยุคกาลข้างหน้าว่า “มหากาฬ พาลยักษ์ รักมิตร สนิทธรรม จําแขนขาด ราชโจร ชนร้องทุกข์ ยุคทมิฬ ถิ่นกาขาว ชาววิไล”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า