หลวงพ่อนาค วัดโพธิ์ชัยศรี อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ประวัติหลวงพ่อนาค (พระพุทธรูปปางนาคปรกทองสัมฤทธิ์) วัดโพธิ์ชัยศรี อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

พระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งลักษณะมี นาค 7 หัว ชูคออยู่เหนือเศียรองค์พระแล้วขมวดหางเป็นวง ขดเข้าหากันทําเป็นแท่นประทับขององค์พระมีขนาดต่างๆกันใหญ่บ้างเล็กบ้าง และวงขดก็ต่างกันมี 3 ชั้นบ้าง 5 ชั้นบ้าง 7 ชั้นบ้าง แล้วแต่ความนิยมของผู้สร้างในสมัยนั้นๆ

หลวงพ่อนาคนี้เป็นพระเก่าแก่องค์หนึ่ง ซึ่งผู้สร้างได้จารึกอักษรไว้ตรงแท่นพระเป็นอักษรตัวธรรม (ไทยน้อย) โบราณแต่ผู้รู้อักษรธรรมโบราณมีสองท่านได้อ่านไว้แล้วบอกกันต่อๆมา (ขณะนี้ท่านทั้งสองได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว) มีความว่าสร้างเมื่อปี จ.ศ. 170 แห่งพุทธกาล ปีจอ เดือน 3 ขึ้น 13 ค่ำ ยามกลองแลง หัวครูคําวงษาเป็นผู้สร้างท่านผู้สร้างคงเป็นพระที่มีอภิญญาญาณแน่นอน

เมื่อ พ.ศ. 2530 พระราชปรีชาญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย (วัดโพธิ์ชัย) ได้อ่านไว้ว่าสร้าง จ.ศ. 170 (พ.ศ. 1351) เดือน 5 ขึ้น 13 คํา ยามกลองแลง (ฤกษ์เททอง) เวลา 17.00 น. ถึง 17.30 น.) ปีจอ หัวครูคําวงษาเป็นผู้สร้าง

รูปลักษณะของหลวงพ่อนาคองค์นี้สวยงามน่าเสื่อมใสมาก โดยเฉพาะพระพักตร์ (ใบหน้า) ดูเหมือนว่าองค์ท่านยิ้มนิดๆ อารมณ์ดีอยู่ตลอดเวลา และในองค์ของหลวงพ่อนาคนั้นมีผู้เล่าต่อๆ กันมาว่าตรงหัวใจขององค์ท่านเป็นทองคําแท้อยู่ภายในและมีอัฐิธาตุ (กระดูก) ของพระอรหันต์บรรจุอยู่ในภายในนั้นด้วย

จึงทําให้องค์ท่านบางครั้งมีรัศมีเปล่งออกมามีผู้พบเห็นเล่ากันต่อๆมา และมีความศักดิ์สิทธิ์มากเหลือที่เราปุถุชนคนธรรมดาจะคิดให้รู้หมดความสงสัยได้ ถ้าพูดตามภาษาธรรมะเรียกว่าเป็นอจินไตย แปลว่า ใครๆไม่ควรคิดถ้าใครขึ้นคิดผู้นั้นจะถึงความเป็นบ้าเพราะคิดไม่ออกนั่นเอง เพราะมิใช่วิสัยของปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆท่าน ๆ จะคิดได้แต่เป็นวิสัยของผู้ที่มีอภิญญาญาณอันแก่กล้าแล้วเท่านั้นจะรู้ได้โดยไม่ต้องสงสัย

ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะได้รู้จักความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อนาค ขอนําท่านผู้อ่านให้มารู้จัก วัดโพธิ์ชัยศรี ซึ่งเป็นวัดหลวงพ่อนาค ประดิษฐานอยู่มาแต่ครั้งโบราณกาล ข้าพเจ้าได้เขียนตามคําบอก เล่าของคุณโยมพ่อตุ๊ (นายทูล คําน้อย) บ้านแวงซึ่งเป็นผู้รู้เรื่องราวของวัดโพธิ์ศรีชัยและประวัติของหลวงพ่อนาคได้ดีพอสมควร ซึ่งได้รับการถ่ายทอดบอกเล่ากันต่อๆ มาจากคนรุ่นเก่าๆ และจากอักษรที่จารึกไว้ตรงแท่นหลวงพ่อนาค

ดังได้สดับมา วัดโพธิ์ชัยศรี เป็นวัดที่เก่าแก่ตั้งแต่โบราณกาล ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 บ้านแวง ตําบลบ้านผือ อําเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ห่างจากอําเภอบ้านผือไปทางทิศตะวันตกถนนสาย อําเภอน้ำโสมประมาณ 4 กิโลเมตร มีเนื้อที่กว้างประมาณ 1 ไร่เศษ ยาวประมาณ 2 ไร่เศษ เพราะมีซากปรักหักพังของมุมกําแพง ปรากฏแต่แรกและมีต้นโพธิ์ไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่งชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดโพธิ์ชัยศรี ซึ่งเป็นที่หลวงพ่อนาคประดิษฐานอยู่มาจนทุกวันนี้

วัดแห่งนี้มีบ่อน้ำบ่อหนึ่ง มีน้ำใสสะอาดดีใช้ดื่มก็ได้ มีความลึกประมาณ 8-9 เมตร มีรูน้ำไหลออกอยู่ตลอดเวลา แต่ก็แปลกใจอยู่ว่าน้ำในบ่อแห่งนี้ ถ้าในฤดูหนาวน้ำในบ่อจะอุ่นมากกว่า ในบ่อทั่วๆ ไป พอฤดูร้อนน้ำในบ่อแห่งนี้จะเย็นจนหนาว ซึ่งเย็นผิดปกติกว่าบ่อน้ำทั่วไป

ภายใต้พื้นของบ่อน้ำแห่งนี้ จะมีถ้ำและรูใหญ่ขนาดตัวคนคลานเข้าไปได้ ทราบว่าเป็นรูจากก้นบ่อยาวไปทะลุลําห้วยอีกแห่งหนึ่งจากบ่อน้ำนี้ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตรจะพอ สังเกตได้ว่าเมื่อเวลาคุ (กระแป๋งที่สานด้วยไม้ไผ่ใช้ขี้ชันน้ํามันยาง ผสมกันทาตากให้แห้งแล้วใช้ตักน้ำของภาคอิสาน) หรือกระแป๋งกระ ถังตักน้ำตกลงไปในบ่อเจ้าของใช้ไม้ขอหยั่งลงไปก้นบ่อคุ้ยหาก็ไม่พบ ต่อมามีคนไปทอดแหหาปลาที่ลําห้วยนั้นไปเจอะกระแป๋งคนนั้นเข้า

จึงสันนิษฐานว่ารูก้นบ่อน้ำต้องยาวไปถึงลําห้วยแน่ กระแป๋งของคนนั้นจึงมาอยู่ที่ลําห้วยได้ ในบ่อน้ำแห่งนี้ มีสิ่งมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่าใครไปตักน้ำแห่งนี้อาบแล้วโดยเฉพาะเป็นผู้หญิง ถ้าใครเอาผ้าซิ่น (ผ้าถุง) ไปวางไว้ที่ปากบ่อน้ำแห่งนี้ แล้วพอรุ่งเช้า วันใหม่น้ําในบ่อนี้จะแห้งหมดทันที ชาวบ้านก็ไม่มีน้ําใช้น้ำดื่มต่อไป

เดิมวัดโพธิ์ชัยศรีแห่งนี้ คงไม่รู้จักกันว่าเป็นวัดมาก่อนเลย เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นป่าดงรกชัฏ เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยนานาชนิด หนาทึบเต็มไปหมด

ต่อมาประมาณ พ.ศ.2100 ได้มีนายสีและนายแสนกับ คณะอีก 5 คน เดิมคนทั้งหมดนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ตรงบ้านเมืองพาน ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาภูพานพระพุทธบาทบัวบก อําเภอบ้านผือในปัจจุบันนี้ ห่างจากบ้านแวงประมาณ 7-8 กิโลเมตร ได้เดินทางเข้าป่าเพื่อหาอาหารล่าสัตว์ป่าเป็นต้นตามแบบสมัยโบราณ

เมื่อเดินทางมาถึงสถานที่วัดร้างแห่งนี้ ซึ่งเป็นป่าใหญ่ หนาทึบมีต้นไม้ปกคลุมไปหมดได้เห็นต้นโพธิ์ไทรใหญ่ต้นหนึ่ง และต้นมะขามหวานอีกหลายต้น ซึ่งมีสัตว์ป่าต่างๆ และนกทั้งหลายพา กันจิกกินลูกโพธิ์ไทรต้นนั้นอยู่ ได้ส่งเสียงเจียวจาวลั่นไปทั้งป่า นายพรานทั้งหลายจึงพากันเดินเข้าไปใกล้ๆ ต้นโพธิ์ไทรนั้น ได้เห็นสิ่งปรักหักพัง อันแสดงให้รู้ว่าเป็นวัดเก่า

เมื่อมองเข้าไปบริเวณนั้นก็ได้พบพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่งตั้งอยู่บริเวณนั้น หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอก สูงประมาณ 6 ศอก เนื้อพระพุทธรูปใหญ่องค์นี้ สังเกตดูแล้วสันนิษฐานว่าคงทําด้วย เกษรดอกไม้และว่านต่างๆ ขณะนี้ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดโพธิ์ชัยศรี

ขอวกเข้าเรื่องเก่าต่อไป เมื่อนายสีพร้อมทั้งคณะเดินออกไป จากพระพุทธรูปใหญ่นี้แล้ว ก็ได้เดินไปรอบๆ บริเวณนั้น ได้พบเห็นใบสีมาซึ่งทําด้วยหินทั้งแท่ง คล้ายกับเอาหินศิลาดาดมาสกัดเป็นใบสีมา มองดูไปรอบๆ ภายในเขตใบสีมานั้นก็ได้เห็นพระพุทธรูป นาคปรก 2 องค์ องค์หนึ่งทําด้วยหินศิลาคือเอาศิลาก้อนใหญ่ๆ มา สกัดเป็นรูปพระนาคปรก อีกองค์หนึ่งทําด้วยทองสัมฤทธิ์ พระนาคปรก 2 องค์นี้หน้าตักกว้าง 12 นิ้ว สูง 12 นิ้วเท่ากัน เข้าใจว่าพระนาคปรก ศิลานี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นองค์อําพรางของพระนาคปรกองค์จริง

ประมาณ พ.ศ. 2395 หลวงพ่อพ่อนาคได้หายไปจากวัดโพธิ์ชัยศรีเป็นครั้งแรกชาวบ้านพร้อมทั้งพระสงฆ์ เมื่อรู้ว่าหลวงพ่อนาคหายไป ต่างคนก็เพียงแต่คิดและพูดกันว่าคงมีคนมาขโมยเอาไป แต่ไม่ทราบว่าใครมาขโมยไปทางไหน ทุกคนก็ไม่สนใจจะติดตามหาเลยหายแล้วก็แล้วกันไป เพราะทุกคนเข้าใจว่าเป็นพระทองเหลืองธรรมดา และไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อะไรจึงไม่ได้สนใจติดตามหาจึง ปล่อยไปตามยถากรรม

ประมาณ พ.ศ. 2399 นายตุ้ยผู้ปกครอง อําเภอบ้านผือ (นายอําเภอ) ในสมัยนั้นได้ถึงแก่กรรมลง นายอวนศักดดีผู้ใหญ่บ้านแวงในสมัยนั้น ได้ไปช่วยงานศพท่านนายอําเภอ ขณะที่ทํางานช่วยงานศพอยู่นั้นก็เดินเข้าเดินออก เดินขึ้นเดินลงภายในบ้านท่านนายอําเภอนั่นเอง ตาก็มองดูสิ่งของต่างๆ บริเวณบ้านบ้าง ภายในบ้านบ้าง ขณะที่กําลังมองดูภายในบ้านอยู่นั้นได้เหลือบไปเห็นพระนาคปรกองค์หนึ่ง ตั้งตระหง่านอยู่บนโต๊ะทางหิ้งบูชา (โต๊ะหมู่บูชา) ภายในบ้านนายอําเภอนั้นแหละพยายามเข้าไปดูใกล้ๆ

สังเกตอย่างถี่ถ้วน เมื่อดูแล้วเพียงแต่คิดในใจว่าพระนาคปรกองค์นี้ เป็นหลวงพ่อนาคอยู่ที่วัดบ้านแวงของเรา เมื่อช่วยงานศพนายอําเภอเสร็จแล้วก็กลับบ้าน ได้เรียกลูกบ้านมาประชุม ได้เล่าเรื่องต่างๆ ที่ตนได้พบเห็นหลวงพ่อนาคให้ชาวบ้านฟัง

ในที่สุดผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านได้พร้อมใจกันไปขอหลวงพ่อนาคกลับคืนทางครอบครัวอดีตนายอําเภอเมื่อทราบเรื่องราวต่างๆ ว่าหลวงพ่อนาคองค์นี้ได้มีผู้ขโมยมาขายให้นายอําเภอ จึงยินยอมคืนหลวงพ่อนาคให้ชาวบ้านแวงแต่โดยดี ทั้งผู้ใหญ่และลูกบ้านจึงได้ อาราธนาหลวงพ่อนาคกลับมาประดิษฐาน ณ วัดบ้านแวงตามเดิม (วัดโพธิ์ชัยศรี) รวมเวลาที่หลวงพ่อนาคที่หายไปครั้งนี้ 4 ปี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า