เจ้าศรี”เป็นธิดาของเจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อเจ้าศรีอายุได้ 3 ขวบพระยามหิบาลบริรักษ์ ข้าหลวงในรัชกาลที่ 5กับคุณหญิงอุ่น ภรรยาได้ขอเจ้าศรีจากเจ้าผู้ครองนครน่านไปเป็นบุตรบุญธรรม เจ้าศรีจึงได้ตามพระยามหิบาลบริรักษ์เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เจ้าศรีใช้ชีวิตวัยเด็กไปกับการเรียนหนังสืออยู่ในวังร่วมกับเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีเป็นเวลา3ปี ก็ต้องตามครอบครัวพระยามหิบาลฯไปประเทศรัสเซียและประเทศอังกฤษเพราะท่านพระยาต้องไปปฏิบัติราชการทำให้เจ้าศรีได้มีโอกาสฝึกฝนภาษาอังกฤษไปด้วย
เวลาผ่านไปหลายปีเจ้าศรีก็กลับสู่ประเทศไทย แต่คราวนี้เจ้าศรีโตเป็นสตรีสาวที่มากความสามารถ เป็นผู้หญิงที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าคิดกล้าพูดและกล้าทำ เป็นหญิงสมัยใหม่ ผิดแปลกไปจากสตรีสาวชาววังทั่วไป ไม่นานนักเจ้าศรีก็เข้ารับราชการเป็นคุณข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถโดยมีหน้าที่เป็นล่ามคอยติดต่อประสานงานค้าขายกับชาวต่างชาติ ในช่วงนั้นต้องถือว่าเป็นสตรีที่มีความสามารถโดดเด่นและกำลังเป็นที่จับตามองของหลายๆคนรวมถึงพระเจ้าอยู่หัว
พระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงพอพระทัยอยู่เป็นมาก จนมีเสียงลือเสียงเล่าจากขุนนางบ้างข้าหลวงบ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวจะให้เจ้าศรีเข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอม ถึงขนาดจะยกขึ้นเป็นสนมเอกเลยทีเดียว เสียงลือต่างๆเริ่มเป็นที่หนาหู ไม่นานนักเรื่องก็ไปถึงหูเจ้าศรี ถึงกับวิตกกังวลว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี ด้านหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นที่ขุ่นเคืองพระทัยพระบรมราชินีนาถผู้เป็นเจ้านาย ด้านหนึ่งก็จะเกิดข้อครหาต่างๆไม่จบสิ้น ท่านจึงตัดสินใจคิดและหาทางออกเรื่องนี้เพียงคนเดียวโดยไม่ปรึกษาใคร
เมื่อถึงวันที่ท่านจะต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว เจ้าศรีจึงได้รู้ว่าข่าวลือต่างๆนั้นมันเป็นเรื่องจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น พอพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ เจ้าศรีจึงตัดสินใจกราบบังคมทูลไปโดยตรง แต่ที่น่าตกใจคือเจ้าศรีกลับทูลเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งเป็นภาษาไทยด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เมื่อแปลเป็นไทยแล้วจึงได้ความหมายว่า
“ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าเคารพรักพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ โดยที่ข้าพเจ้ามิได้มีใจรักใคร่พระองค์ในทางชู้สาว”
ที่เจ้าศรีทูลกลับเป็นภาษาอังกฤษนั้นก็เพราะว่า หากทูลเป็นภาษาไทยจะทำให้ตรงเกินไปและเป็นการมิบังควรเพราะเป็นการปฏิเสธพระเจ้าอยู่หัว นับว่าเป็นการหาทางออกอย่างผู้มีสติปัญญาและไหวพริบเป็นเลิศ เมื่อทูลไปเช่นนั้นแล้วพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงแย้มพระสรวลและเมตตาให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าศรี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเจ้าศรีเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และทรงเป็นผู้ฉายรูปเจ้าศรีด้วยพระองค์เองเก็บไว้ในห้องบรรทมบนพระที่นั่งอัมพรสถานตลอดมา เจ้าศรีครองตัวเป็นโสดจนรัชกาลที่ 5 สวรรคต จึงเข้าพิธีเษกสมรสกับหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร โดยมีรัชกาลที่6เป็นเถ้าแก่สู่ขอเจ้าศรี พร้อมกับพระราชทานนามให้ใหม่ว่า”ศรีพรมมา”จากนั้นมาจึงมีฐานะเป็น“หม่อมศรีพรหมา”ในหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
จากภาพ
บนซ้าย รูปเจ้าศรีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายด้วยฝีพระหัตถ์และทรงตั้งไว้ในห้องพระบรรทม
บนขวา รูปเจ้าศรีเมื่อกลายมาเป็นหม่อมศรีพรหมา ในหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
ล่าง รูปคู่รูปเจ้าศรีพรหมากับหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ในวัยชราและครอบครัว
ตอนต่อจาก ผ่องประไพ“พระราชธิดาที่ถูกลืม” ตอนต่อไปยังอยู่ในราชสำนักของรัชกาลที่5
ที่มา คลังประวัติศาสตร์ไทย