พระครูนิยุตธรรมสุนทร หรือหลวงพ่อยิด จันทสุวัณโน แห่งวัดหนองจอก ต.ดอนยายหนู อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ท่านเป็นอีกหนึ่งในบรรดาพระเกจิอาจารย์ผู้เปี่ยมอภิญญาอาคมขลัง ท่านถวายตัวเป็นลูกศิษย์ตถาคตสืบทอดและเผยแผ่พุทธศาสนาตามแนวทางของพระศาสดาอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นผู้สร้างวัดหนองจอกด้วยมือของท่านเอง จากที่รกร้างเต็มไปด้วยป่าไผ่และดงหนาม จนสำเร็จเป็นวัดที่เจริญและงดงามในปัจจุบัน
วัตถุมงคลของหลวงพ่อยิดที่ขึ้นชื่อคือ ปลัดขิก ที่สร้างปาฏิหาริย์บินได้ เป็นที่นิยมกว้างขวางในหมู่ทหารและตำรวจ เพราะมีคติความเชื่อกันว่า ใครมีปลัดขิกของหลวงพ่อยิดติดตัวแล้วจะดีเด่นในด้าน เมตตามหานิยมและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวงอีกทั้งมีผู้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งแคล้วคลาดและโชคลาภจากการบูชาวัตถุมงคลจากหลวงพ่อยิดติดตัว ชื่อเสียงของหลวงพ่อยิดจึงโด่งดังมากตั้งแต่เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน แม้หลวงพ่อยิดท่านได้ละสังขารไปแล้ว แต่วัตถุมงคลของหลวงพ่อยิดก็ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ดีเด่นในด้านเมตตาแคล้วคลาด เล่นหาบูชากันในวงกว้าง
หลวงพ่อยิด นั้นได้ชื่อนักพัฒนาที่มีฝีมือรูปหนึ่ง เห็นได้จากการสร้างสรรค์พัฒนาให้วัดหนองจอก จนเป็นวัดที่สมบูรณ์มีถาวรวัตถุทางศาสนาครบ ยากที่จะหาวัดใดๆ สร้างได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ ท่านยังพัฒนาจิตใจและการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างเต็มที่ โดยสนับสนุนด้านทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนหลายแห่งใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งร่วมสร้างสาธารณประโยชน์แก่สถานที่ราชการและหน่วยราชการมากมาย
สมัยที่หลวงพ่อยิดยังมีชีวิต ท่านมีกิจนิมนต์ในการปลุกเสกพระเครื่องรางของขลังทั่วประเทศจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ในวันเสาร์ ๕ ท่านปลุกเสกวัดแรกที่ จ.นครสวรรค์ วัดสุดท้ายที่วัดหนองจอก แต่ละวัดจะปลุกเสกวัดละ ๓๐ นาที รวมทั้งหมดวันเดียวปลุกเสก ๙ วัด
ส่วนการรับแขกของหลวงพ่อยิดแต่ละวันนั้น บางวันแทบไม่ได้ลุกไปห้องน้ำเลย นอกจากฉันอาหารเพลเท่านั้น แม้แต่ยามอาพาธ ก็ยังแสดงความอดทน ออกมาต้อนรับญาติโยมเหมือนไม่เป็นอะไรเลย ยิ่งเรื่องการเขียน การจารวัตถุมงคลด้วยแล้ว บางวันถึงขนาดไม่ได้ฉันข้าวก็มี เมื่อเขียนจารเสร็จแล้ว ท่านจะเอานิ้วที่ซีดแนบเนื้อติดกระดูกให้ผู้อยู่ใกล้ชิดดู จนต้องช่วยกันบีบนวดให้เพราะสงสารท่าน
อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องปกติรรมดา ที่พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ส่วนมากจะมีปัญหาเกี่ยวกับผู้ใกล้ชิด ลูกศิษย์ กลุ่มพุทธพาณิชย์ หาผลประโยชน์จากการสร้างวัตถุมงคลเพื่อหวังผลกําไรจํานวนมหาศาล เช่นเดียวกับหลวงพ่อยิด ซึ่งมีหลายกลุ่ม แต่ท่านจะไม่ว่าอะไรใครทั้งสิ้น เมื่อมีผู้ถาม ท่านก็จะตอบว่า
“ใครที่ประพฤติตนหาผลประโยชน์จากพระ บุคคลนั้นต่อไปจะยากจน เพราะตัวเองจะป่วย แล้วก็ใช้เงินจากการจําหน่ายพระมารักษาตัวจนหมดสิ้น และชีวิตก็จะอยู่ไม่มีความสุขภายในครอบครัว” และวาจาท่านก็ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งเสียด้วย เพราะมีหลายคนที่เป็นไปตามคำพูดนั้น ขณะเดียวกันท่านมักจะสอนศิษย์เสมอว่า “การที่จะปลุกเสกวัตถุมงคลให้ขลังนั้นจะต้องมีสมาธิ และสัจจะ”
อ.ไชยยา อ่ำสำอางค์ ผู้จัดทำหนังสือ “หลวงพ่อยิด จนฺทสุวณฺโณ” ฉบับมาตรฐาน ที่รวบรวมประวัติและการจัดสร้างวัตุมงคลของหลวงพ่อยิดไว้อย่างสมบูรณ์ บอกว่า หลวงพ่อยิด ได้เริ่มสร้างวัตถุมงคลแบบทดลองสร้างดูพุทธคุณตั้งแต่สมัยเป็นอาจารย์ยิด โดยสร้างเป็นตะกรุดเพียงไม่กี่ดอก ได้มาเริ่มสร้างวัตถุมงคลแบบจริงๆ จังๆ ก็ตอนสร้างวัดหนองจอกนี่เอง โดยสร้างเป็นเหรียญรูปหล่อ และปลัดขิก วัตถุทุกชนิดเมื่อผ่านการปลุกเสกจากท่าน จึงเชื่อถือกันว่ามีความขลังและศักดิ์สิทธิ์มาก ที่โด่งดังและรู้จักกันดีทั่วประเทศก็คือ “ปลัดขิก” ซึ่งท่านปลุกเสกจนกระดุกกระดิกเคลื่อนไหวได้ เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็น
ปลัดขิกหลวงพ่อยิดนั้น มีทั้งที่วัดแกะเอง (แกะโดยหลวงตาลาว ประภาโส เจ้าอาวาสรูปต่อมา) และชาวบ้านแกะมาถวาย มีทั้งถวายหลวงทั้งหมด หลวงคืนให้ทั้งหมดก็คืนให้บางส่วนก็มี แต่ถ้าเป็นรุ่นที่ออกเป็นทางการ คือ รุ่น เสาร์ ๕ พ.ศ.๒๕๓๖ มีเนื้องาช้างประมาณ ๑๐๐ ตัว ไม้มงคลต่างๆ ๓๐๐-๔๐๐ ตัว มีทั้งตอกโค้ด “ยิด” และ “นะ คงกระพัน”
ปลัดขิกของหลวงพ่อยิด มี ๓ ลายมือ ที่เล่นหาเป็นสากล คือ ลายมือหลวงพ่อยิด ลายมือทิศเพ็ย (หลานหลวงพ่อ) และลายมือเณรกุ้ง หรือพระอาจาย์ปรสาน ญาณคุตโต ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ส่วนมือพระอาจารย์จิ สมจิตโต เป็นทายาทผู้สืบทอดพุทธคม ซึ่งปัจจุบันเป็นรองเจ้าอาวาสวัดหนองหว้า จ.เพชรบุรี ลงจารยันต์ให้หลวงพ่อยิดเมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ปลัดขิกเนื้อไม้มงคลต่างๆ รุ่นเสกตะปูถน ไตรมาศ พ.ศ.๒๕๓๕ สำหรับปลัดขิกเนื้อโลหะที่ได้รับความนิยม รุ่นเจริญพร ซึ่งออกพร้อมๆ กับพระกริ่ง และเหรียญ รุ่นเจริญ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ ถ้าเนื้อทองคำอยู่ที่หลักหมื่นปลายๆ เนื้อนวะ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดงอยู่ในหลักพันต้นๆ
รุ่นนิยมและค่านิยม
“ค่านิยมพระหลวงยิดแต่ละรุ่นราคาไม่เท่าเทียมกัน ยังมีช่วงห่างของราคาต่างกันมาก เนื่องจากการสร้างมีนับร้อยๆ รุ่น ทั้งที่วัดสร้างเอง และลูกศิษย์สร้างถวาย ซึ่งมากกว่าที่วัดสร้างเอง ในกรณีที่ลูกศิษย์ทั้งมีความชัดเจนในจำนวนการสร้างไม่ชัดเจน ในการสร้างออกวัดไร่เนิน โรงพยาบาลเขาย้อย วัดพุน้อย วัดหุบตะโฆตร และที่ว่าการอำเภอกุยบุรี ถือว่าเป็นของวัด เพราะหลวงพ่อยิดเป็นผู้สร้างให้” นี่เป็นคำบอกเล่าของ อ.ไชยยา
ทั้งนี้ อ.ไชยยา ยังบอกด้วยว่า กรณีที่วัดสร้างเองนั้นรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุด พระรุ่นเสกตะปูถอน ค่านิยมอยู่ในหลักหมื่นกลางๆ พระรุ่นเจริญพร ค่านิยมถ้าเป็นเนื้อทองคำราคา (พระกริ่ง-เหรียญ)หลักแสนกลางๆ พระสมเด็จรุ่นแรก ค่านิยมอยู่สภาพสวยอยู่ในหลักกลางๆ พระสมเด็จเปียก ค่านิยมสภาพสวยอยู่ในหลักหมื่นต้นๆ พระสมเด็จหลังยันต์ตรีนิสิงเห พ.ศง๒๕๓๖ ฝังตะกรุดทองคำอยู่ในหลักหมื่นต้นๆ และพระสมเด็จหลังหนุนมานค่านิยมอยู่ในหลักพันปลายๆ ถึงหมื่นต้นๆ
ส่วนพระที่ลูกศิษย์สร้างถวายแล้วได้รับความนิยม คือ พระกริ่ง ทอ.รุ่นแรก ออก เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ เนื้อทองคำมีการเช่าซื้อเกือบ ๑ ล้านบาท เนื้อเงินอยู่ในหลักแสนต้นๆ และเนื้อนวะอยู่ในหลักหมื่นต้นๆ นอกจากนี้ยังมีรุ่นเสมาบารมี พ.ศ.๒๕๓๘ ค่านิยมถ้าเป็นเนื้อทองคำอยู่ในหลักแสนต้นๆ รวมทั้งเหรียญรุ่น พ่อ-แม่ พ.ศ.๒๕๓๔ ค่านิยมเนื้อเงินอยู่ที่หลักหมื่นกลางๆ เนื้อทองแดงอยู่ในหลักพันต้นๆ
สำหรับรุ่นล่าสุดของหลวงพ่อยิด ท่านปรารภให้สร้างเหรียญแอ่งกระทะ รุ่นมหาโชคลาภ พ.ศ.๒๕๓๘ มีการสร้าง ๓ เนื้อ ทองคำสร้างเพียง ๕ องค์ ค่านิยมหลักแสนต้นๆ เนื้อเงินสร้าง ๑๐๐ องค์ ค่านิยมหลักหมื่นต้นๆ และเนื้อแดงสร่าง ๓๐,๐๐๐ องค์ ค่านิยมหลักร้อยปลายๆ เท่านั้น
ในขณะนายวิเชียร อินทรพันธ์ หนึ่งในผู้สะสมพระเครื่องและวัตถุมงคลหลวงพ่อยิด บอกว่า ได้เห็นประสบการณ์พุทธคุณพระของหลวงพ่อยิดด้วยตัวเอง เห็นวัตรปฏิบัติของท่าน วัตถุมงคลของท่านขลังตั้งแต่ปลุกเสก ส่วนที่เลือกเก็บเหรียญรุ่น พ่อ-แม่ มากเป็นพิเศษ เพราะชื่อของรุ่นเป็นมงคล ซึ่งเป็นคำสูงสุดของลูก ในการสร้างเหรียญรุ่นนี้ผู้สร้างต้องการบูชาคุณพ่อ-แม่