อภินิหารหลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร

สวัสดีครับวันนี้ทีมงานมานำเสนอเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระที่สูงโดดเด่นเขตพระนคร มีนามว่าหลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง วัดนี้สันนิษฐานว่าถูกสร้างก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ เดิมเรียกว่า วัดบางขุนพรหมนอก ต่อมาชาวลาวที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงกับวัดชื่อ เจ้าอินทร์ ผู้เป็นน้าชายของเจ้าน้อยเขียวค่อม พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ได้ทำการบูรณะวัดแห่งนี้ครั้งใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดอินทร์ เพื่อให้เกียรติแด่ผู้บูรณะวัดนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า วัดอินทรวิหาร ด้วยอาจกลัวเกิดสับสนกับ วัดอินทาราม เขตบางยี่เรือ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) ท่านเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯใ นขณะนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม แต่ลงมาควบคุมการก่อสร้างเอง เมื่อการก่อสร้างดำเนินมาได้เพียงพระนาภี ( สะดือ ) ท่านก็มรณภาพลง ณ ศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหม คงสร้างค้างไว้เพียงถึงพระนาภีสูงประมาณ 9 วาเศษ หลวงปู่ภูเจ้าอาวาสวัดอินทร์จึงดำเนินการสร้างต่อแต่ก็ยังไม่เสร็จ พระครูสังฆบริบาล แห่งวัดบวร ได้สร้างเพิ่มเติมได้สร้างต่อจบเกือบเสร็จ ขาดเพียงยอดพระเมาลีได้องค์พระสูงประมาณ 16 วา

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2467 พระครูสังฆรักษ์เจ้าอาวาสได้ดำเนินการสร้างต่อมา ใช้เวลา 4 ปี จึงสำเร็จเรียบร้อย และได้จัดให้มีงานสมโภช เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2471 หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ว่าสามารถคุ้มกับสรรพภัยพิบัติต่างๆได้อย่างมหัศจรรย์ดังเช่นที่จะเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้คัดลอกตอนหนึ่งจากหนังสือประวัติวัดระฆัง

ในระหว่างที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างสงคราม พ.ศ. 2484-2487 หลวงพ่อโตหาได้กระทบกระเทือนอย่างใดไม่คงอยู่เป็นมิ่งขวัญ เป็นที่สักการะของชาวเราอยู่ตลอดไป ได้มีผู้กล่าวสรรเสริญถึงอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของท่านอยู่เสมอมิได้ขาด ในยามสงครามประชาชนในเขตอื่นๆอพยพกันเป็นจ้าระหวั่น แต่ในบริเวณเขตหลวงพ่อโตมิใคร่จะมีใครอพยพกัน ซึ่งมีบางท่านกล่าวว่า จะไม่ยอมไปไกลจากองค์หลวงพ่อโตเป็นอันขาด

แต่มีบางท่านจะต้องอพยพได้ไปลาสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสส เทโว) วัดสุทัศน์ มีรับสั่งว่า อย่าไปเลยในบริเวณวัดอินทรวิหารเหมาะสมและปลอดภัยดีแล้ว เพราะหลวงพ่อโตท่านคุ้มครองอยู่ คงจะปัดเป่าภยันตรายไปได้ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านเป็นผู้สร้างได้ทำไว้ดีแล้วประชาชนส่วนมากในวัดอินทรวิหารจึงไม่ใคร่อพยพจากไป นอกจากนั้นเมื่อมีภัยทางอากาศเกิดขึ้นในคราวใดประชาชนในเขตอื่นๆยังพลอยหลบภัยเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณหลวงพ่อโตเป็นจำนวนมาก ปรากฏว่ามีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดบริเวณวัดอินทรวิหารรวมด้วยกัน 11 ลูก แต่ไม่ระเบิดและไม่เกิดเพลิงอย่างใด

ในครั้งต่อมาได้มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่ตำบลเทเวศร์ โดยเฉพาะองค์หลวงพ่อโตวัดอินทรวิหารใกล้กับจุดอันตรายมาก แต่หาเป็นอันตรายแม้แต่น้อยไม่ ซึ่งประชาชนส่วนมากที่หลบภัยเข้ามาในบริเวณหน้าหลวงพ่อโต มองเห็นฝูงเครื่องบินมาทิ้งระเบิดบ่ายโฉมหน้าพุ่งตรงมายังหลวงพ่อโต ครั้นมาถึงในระยะใกล้เครื่องบินฝูงนั้นก็วกไปทิศอื่นเสีย ซึ่งประหนึ่งว่าหลวงพ่อโตท่านโบกพระหัตถ์ให้ไปทางทิศอื่นเสีย ประชาชนและบ้านเรือนในเขตบริเวณหน้าหลวงพ่อโตวัดอินทรวิหาร จึงหาเป็นอันตรายแต่ประการใดไม่

ที่มาข้อมูล หนังสือประวัติวัดระฆัง ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี คณะสงฆ์วัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระเทพสิทธินายก (นาค) วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๔, หน้า ๑๑๖. พิมพ์เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๐

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คลิกอ่าน นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า